วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

"หลัก"



"หลัก"


พระอาจารย์   ธรรมก็เหมือนกัน ก็ทำอีกๆ ทำแล้วทำอีกๆ ย้ำอยู่ตรงจุดเดิมนี่ ไม่เปลี่ยนที่  

แต่มันต้องทำด้วยความชำนาญอยู่ตรงที่เดิม รู้เห็นอยู่ที่เดิม ปัจจุบันเดิม ...แม้กายมันจะเปลี่ยนหน้าค่าตาไปยังไงก็ช่างมัน ขอให้เป็นปัจจุบันความรู้สึกนั้น

สร้างฐานของจิตให้อยู่ในปัจจุบันมากๆ โดยอาศัยกายนี่เป็นที่ตั้งของธาตุธรรมปัจจุบัน ...เมื่อจิตมาตั้งรู้ตั้งเห็นอยู่กับกาย ก็แปลว่าจิตนั้นอยู่ในปัจจุบัน

ต้องบ่มจิตปัจจุบันนี้มากๆ เพราะโดยปกติของปุถุวิสัย ปุถุชนนี่...เก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์น่ะ มันออกนอกปัจจุบัน...ตลอด

เพราะนั้นต้องรักษาจิตปัจจุบันนี้ไว้ โดยอาศัยกายนี่เป็นบาทฐาน...ที่เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความมีอยู่ เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตรงนี้เริ่มเรียกว่าครบถ้วนแล้ว ตั้งแต่สติศีลสมาธิ แม้ยังไม่ครบองค์ประกอบของไตรสิกขาคือปัญญา...ก็บ่มตรงนี้ก่อนมากๆ

เมื่อใด ช่วงใด เวลาใดที่จิตมันอยู่ตัวได้ดี อย่างไม่ต้องควบคุมบังคับ ไม่ต้องระแวดระวัง ไม่ต้องระมัดระวัง...เรียกว่ามันอยู่ตัว มันคงตัว เรียกว่าสมาธินี่ได้ที่ได้ฐานระดับหนึ่ง

นี่จึงค่อยน้อมเข้าหาปัญญา ด้วยความสังเกตสังกาใคร่ครวญในธรรม ตั้งปรัศนีขึ้นในหัวจิตหัวใจว่ามันเป็นเราตรงไหน...แล้วดู  มันเป็นของเราตรงไหน...แล้วดู

เมื่อแน่วแน่ในธรรมดี แนบแน่นกับธรรมดี แล้วก็พิจารณาใหม่ ...ลักษณะอาการนี้เรียกว่าด้วยอนุโลมและปฏิโลม ค่อยๆ เป็นไป ...นี่คือลักษณะวิถีของปัญญาวิมุติ

พวกเรานี่อยู่ในเกณฑ์สันดานต้องเป็นปัญญาวิมุติ ...จะไปตามครูบาอาจารย์ที่สายกรรมฐานสายหลวงปู่มั่นเป็นต้นแบบลูกศิษย์นี่ไม่ได้ ...จะตามนั้นไม่ได้

เราจะต้องอาศัยสมาธิปัญญาอย่างเป็นช่วงเป็นห้วงไปอย่างนี้...ที่จะพอเข้าไปลิดรอนอำนาจของความถือครองว่าเป็นเราของเรา...ทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ เป็นไป

แต่อาศัยการประกอบกระทำอย่างเนืองๆ ขยัน ...ไม่ทิ้งช่วง ไม่ขาดหายไปนาน นับเป็นชั่วโมง นับเป็นหลายๆ นาที ...อย่างนี้เรียกว่าประมาทแล้ว

เพราะนั้นก็ให้มันบ่อยๆ ...เผลอ หาย ลืม...เอาใหม่ๆ ...แล้วก็ต้องตั้งกลับมาที่เดิม คือกองกาย กองธาตุ กองเวทนา

อย่าไปตั้งสะเปะสะปะ ว่าไปรู้ตรงนั้นก็ได้ ไปเห็นตรงนี้ก็ได้ แบบคนนั้นแบบคนนี้เขาก็ทำกัน ...อย่าเอากิเลสคน อย่าเอาสันดานคน อย่าเอาการดำรงการดำเนินของคนนี่มาเป็นแม่แบบ

เอาธรรมเป็นแม่แบบ เอาพุทธะเป็นแม่แบบ เอาพระอริยสงฆ์ซึ่งหาได้ยากนี่เป็นแม่แบบจึงจะไว้เนื้อเชื่อใจได้ว่าไม่ถูกกิเลสต้มและตุ๋น

ทำยังไงธรรมนี่จึงจะเงยตาอ้าปากขึ้นมา ...ก็สติล้วนๆ การระลึกรู้ล้วนๆ  ซ้ำๆๆๆ ...หายลืมเอาใหม่ๆ กายมันก็มีอยู่ตรงนั้น ไม่ต้องไปลงทุนลงแรงค้นหาอะไรหรอก ...มันก็อยู่ตรงนั้นน่ะ

ถามตัวเองกำลังทำอะไร...ก็เจอแล้ว  กายกำลังอยู่ในท่าไหน...ก็เจอแล้ว  กำลังอยู่ในอิริยาบถใหญ่ใด...ก็เจอแล้ว  กำลังอยู่ในอิริยาบถย่อยใด...ก็เห็นแล้ว

ให้ศีลน่ะเป็นปัจจุบัน ให้สติน่ะเป็นปัจจุบัน ให้สมาธิน่ะเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

นี่แหละ ที่พูดมาทั้งหมดนี่แหละคือหลักปฏิบัติ ...ไม่ใช่อุบายปฏิบัติ แต่คือหลักปฏิบัติ

และเป็นหลักเดียวที่จะเอาตัวรอดจากกิเลสได้ เอาตัวรอดจากความยึดมั่นถือมั่น โดยเราของเรา โดยเขาของเขาได้ ถ้าไม่โดยหลักนี้...ไม่มีทาง

หลักศีลสมาธิปัญญา หลักมรรคมีองค์แปด หลักปัจจุบันธาตุ ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันรู้ ...หลักนี้หลักเดียวเท่านั้น...ทั้งหมดสงเคราะห์ลงที่นี้หมดเลย

ธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ อุบายธรรมทั้งหลายทั้งปวง ต้องสงเคราะห์ลงที่นี้ทั้งหมด ...เรียกว่ารอยเท้าเล็กลงที่รอยเท้าใหญ่ รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จบลงที่รอยเท้าช้าง

มันต้องลงที่นี่หมดเลย จึงจะต่อกรเป็นคู่ต่อสู้กับอวิชชาตัณหาอุปาทาน...ที่เราสั่งสมพอกพูนกำลังให้มัน สนับสนุนค้ำจุนมันมาอเนกภพอเนกชาติ ...พละกำลังของมันมากมายมหาศาลจริงๆ

แล้วลองประเมินกำลังศีลสมาธิปัญญาเราดูมั้ยล่ะ ...อย่างเวลาโกรธเวลาเกลียดใคร เวลาเกิดอารมณ์กับใคร แล้วเราลองนึกว่า...ให้กลับมารู้ว่ากายกำลังอยู่ตรงนั้น

กายกำลังยืน กายกำลังเดิน กายกำลังแข็ง กายกำลังตึง ...ดึงกลับได้มั้ย ยินยอมที่จะกลับมาอยู่กับกายตรงนั้นได้มั้ย  หรือว่าหากายตรงนั้นเจอมั้ย ท่ามกลางความแผดเผาเร่าร้อน

เห็นพลานุภาพของกิเลสมั้ย เห็นพลานุภาพของอารมณ์มั้ย เห็นพลานุภาพของอุปาทาน เห็นพลานุภาพความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เราของเรามั้ย

นี่ มันแรงกว่า เหนือกว่าศีลสมาธิปัญญา กายใจปัจจุบัน หลายขุม หลายช่วงตัวนะ

ถึงเอาได้ กลับมาอยู่...แต่ก็เอาไม่รอด เอาไม่ตลอดรอดฝั่ง ...สุดท้ายก็ต้องไปตายแช่อยู่กับอารมณ์ ทำตามอารมณ์ พูดตามอารมณ์

หรือเข้าไปดำดินบินวนอยู่ในอารมณ์นั้น จนกว่าอารมณ์นั้นจะสร่างซาของมันไป...โดยที่ไม่มีศีลสมาธิปัญญากล่าวอ้างกล่าวถึงในจิตดวงนั้นเลย

เห็นมั้ย ความต่ำใต้กิเลส ความต่ำใต้ขันธ์ ความต่ำใต้อารมณ์ ความต่ำใต้ความปรารถนาของเราของเขานี่ มากมายมหาศาล

เรียกว่ายังไม่ใช่คู่ต่อกร ไม่ใช่คู่ต่อสู้เลย...ที่จะไปลบความเป็นเรา ความเป็นของเรา ที่เขาพูดว่าละกันได้ง่ายๆ เหมือนปอกกล้วยเข้าปากน่ะ เป็นคำโกหก ...ไปประเมินกำลังดูจะรู้เลย

ลองดู อยากรู้ว่ากิเลสเราประมาณไหน กี่โล กี่ขีด กี่ตันนี่ เวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิซักหนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง ...แล้วจะรู้เลยว่า จิตนี่เดือดเนื้อร้อนใจกับกายนี้มั้ย ว้าวุ่นสับสนกับกายนี้มั้ย

ในจิต ในดวงจิตของเราตรงนั้นจะมีแต่ความคร่ำครวญหวนไห้ สับสนวุ่นวาย  ชุลมุนชุลเกไปหมดน่ะ ความยึดมั่นถือมั่นในเราในกายยังเต็มหัวจิตหัวใจอยู่เลยน่ะ

นี่มันแสดงอะไร...แสดงว่ากายนี้ยังเป็นเราของเราอยู่เต็มๆ ...ยังห่างชั้นนักห่างชั้นหนาว่ากายนี้ไม่ใช่เราของเรา

นี่ ตรงต่อธรรมนะ ไม่โกหกตัวเองนะ ...การปฏิบัติธรรมไม่โกหกตัวเอง ไม่โกหกคนอื่นนะ มันเป็นอะไรที่รู้ได้ เห็นกับตัวเองเลยว่ายังติดก็คือต้องติด...ต้องรู้ ยังยึดก็ต้องรู้ว่ายังยึด

ยังออกไม่ได้ก็ต้องรู้ว่ายังออกไม่ได้ ยังหาวิธีออกจากมันไม่ได้...ก็รู้ว่าหาวิธีออกจากมันไม่ได้ รู้ว่ากำลังหาวิธีการออก รู้ว่าเข้าหาวิธีการออกที่ถูก ...ก็ต้องรู้ด้วยตัวเองหมดเลย

อย่าไปฟังคำคนอื่น อย่าไปปฏิบัติธรรมตามกระแส ตามเทรนด์ ...ไม่ใช่ลัทธินี่ อย่ามาอ้างคนนั้นพูดคนนี้บอก

สวากขตธรรมนี่คือธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านคัดแล้ว สรรแล้ว ตรัสดีแล้ว...นี่ อันนี้เป็นหลักเป็นเกณฑ์  ศีลสมาธิปัญญานี่ตายตัวเลย

ถ้าปฏิบัติ...ถามดูตรงนั้น มองหาดูตรงนั้นว่าอยู่ในแวดวงของศีลมั้ย อยู่ในแวดวงของสมาธิ อยู่ในแวดวงของปัญญารึเปล่า ...ถ้าไม่ได้อยู่ในแวดวงของศีล...จบ ผิดทันที บอกให้เลย

เรายืนยันอยู่ที่เดียวน่ะ ถ้าไม่มีกายอยู่ตรงเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เป็นเครื่องรู้เครื่องเห็น...นี่ ผิดธรรม ผิดศีล ออกนอกมรรค ออกนอกความเป็นจริง ออกนอกปัจจุบัน...เป็นอันว่าผิดหมด


เพราะฉะนั้น จะปฏิบัติตามๆ กันไปมา หรือจะปฏิบัติตามหาธรรม ตามศีลสมาธิปัญญาล่ะ



คำสอน "พระอาจารย์"

 วันที่  6 พ.ค. 2560

บล็อก...คำสอน (นอกแผ่น)





(หมายเหตุ  :  ขอบพระคุณภาพประกอบที่นำมาปรับแต่งให้เหมาะแก่ข้อธรรมนี้ด้วยค่ะ
Thank for image "oceans_wallpapers_410" )



วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

เหตุควรแก่ "สมัย"






พระอาจารย์ –  ธรรมปฏิบัติในยุคสมัยนี้ ที่มันเหมาะที่สุดน่ะ ปฏิบัติแล้ว เกิดความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตัวเอง โดยไม่สงสัย แล้วก็ไม่หลงทางนี่...ง่ายๆ ไม่มีอะไรเกินมหาสติหรอก คือสติปัฎฐานสี่นั่นเอง

มันไม่เหมือนกับการปฏิบัติธรรมในสมัยแต่ก่อน การเข้าถึงมรรค การเข้าถึงผลนี่ มันมีหลากหลายวิธีการ แล้วก็ทำได้ด้วย ...แต่ในสมัยนี้มันยาก ไม่ใช่ไม่ได้...แต่มันยาก 

เพราะจริตสันดานของคนในยุคนี้ ตั้งแต่เกิดมานี่ มันรับรู้ รับทราบ รับจำ อะไรที่มันเกินจริงมาก จนถึงมากที่สุด ...ถ้าพูดถึงว่าคนสมัยแต่ก่อนมาฟังนี่จะไม่รู้เรื่องเลย มันจะคุยกันไม่รู้เรื่อง 

เปลือก การรู้ การคิด การจำนี่ มันล้ำเกินจริง ...เพราะนั้นสิ่งที่มันเก็บ ที่มันฝังไว้นี่ ในสัญญา ในความจำได้หมายรู้นี่ มันละเอียดในความปรุงแต่งของกิเลสสังขาร 

นั่น มันยากต่อการที่เลิกละเพิกถอนด้วยอำนาจของเจโตวิมุติ หรือเจโตกึ่งปัญญาวิมุติ ...เพราะไอ้ความรู้เกินจริงนี่ เวลามันรู้ เวลามันทราบ เวลามันเข้าไปเสพเข้าไปเสวยแล้วนี่...มันไม่ยอมทิ้ง มันทิ้งได้ยาก 

เพราะมันมีรสชาติ...รสชาติที่พอใจ พอดีกับกิเลสความต้องการ ความอยาก ความปรารถนา ...เพราะนั้นไอ้การที่มันจะสำรวมจิตให้สงบ ด้วยอุบายใดอุบายหนึ่งนี่ ...มันจึงไม่สามารถทำได้ ทำได้ก็ได้เล็กน้อย 

นั่นไม่เพียงพอต่อการจะน้อมนำเอาความสงบนั้นไปเป็นรากฐานของการพิจารณา ...กระทั่งทำความสงบในรูปแบบนั่งสมาธิเดินจงกรมยังยาก เพราะมันไม่สามารถจะรวมจิตให้เป็นหนึ่งได้ด้วยอุบาย

เพราะงั้นการปฏิบัติในยุคหรือในคนสมัยนี้ และสมัยหน้าและสมัยต่อๆ ไปนี่  จึงต้องมาเน้นอยู่ที่สติปัฏฐานให้มากที่สุด ...คือการฝึกสติ แล้วก็ใช้ชีวิตไปตามปกติวิสัย 

ทำหน้าที่การงานยังไง ยืนเดินนั่งนอน กิจกรรมภายนอกอย่างไร ก็ไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนแก้ไขกับมันมากจนเกินไป เพียงแต่ว่าระลึกรู้บ่อยๆ ในอาการปัจจุบันนั้นๆ

ว่ากำลังทำอะไร กำลังอยู่ในเหตุการณ์ไหน มีความรู้สึกอย่างไร นี่ ...ด้วยการที่ทำอย่างนี้ แล้วก็พากเพียรที่จะฝึกความระลึกรู้กับตัวเองบ่อยๆ ...มันจึงจะเป็นรากฐานในการดำเนินไปในองค์มรรค 

อย่าใจร้อน อย่าใจเร็ว เพราะความคิดน่ะมันล้ำ มันล้ำยุคล้ำสมัยเกินไป ...อะไรๆ มันได้มาแบบรวดเร็ว มักง่าย จนเคยชิน จนติดเป็นนิสัย 

พอมาเริ่มภาวนา การกำหนดระลึกรู้ ผลยังไม่ทันปรากฏ มันก็จะเอาไวๆ ...ถ้าไม่ได้ก็เริ่มท้อถอยบ้าง พาลบ้าง หาว่าไม่ได้ผลบ้าง ...จิตมันไว มันคุ้นเคยกับอะไรที่ได้มาง่ายๆ 

สมัยนี้อะไรมันได้มาง่ายทั้งนั้น ภายนอกน่ะ ...แค่นึกคิด แค่ต้องการ มันก็หยิบโทรศัพท์ หยิบมือถือ มันก็ได้ดิลิเวอรี่มาถึงที่ส่งถึงบ้าน อะไรอย่างนี้ ...มันไว 

จะไปไหนมาไหนก็รวดเร็วทันใจ ไม่ติดไม่ขัด สะดวกสบาย เลยติดเป็นนิสัย ...พอมาเริ่มภาวนามันก็ติด จะเอาแบบเร็วๆ สบายๆ เหมือนที่คุ้นเคย 

เพราะนั้นสิ่งที่มันจะขาดสำหรับผู้เริ่มภาวนาในยุคนี้ก็คือ ขาดความเพียร ความหมั่น ความขยัน ในการที่จะฝึกตัวเอง ฝึกการรู้อยู่กับตัว...เรียกว่ารู้ตัว นั่นแหละ ก็คือตัวสตินั่นเอง

ถ้ามีความเพียร ไม่ท้อไม่ถอย สมาธิปัญญามันเกิดขึ้นได้ ในทุกที่ ทุกสถาน ทุกเวลา...โดยไม่เลือก ไม่เลือกท่านั่ง ไม่เลือกท่ายืน ไม่เลือกสถานที่ 

มันก็จะสามารถตั้งได้ตามเหตุอันควรแห่งศีล แห่งสติ...ที่ถึงพร้อมในระดับนั้นๆ ...ไม่ได้ตั้งขึ้นได้ด้วยความอยาก ไม่ได้ตั้งขึ้นได้เพราะคิดเอาเอง ไม่ได้ตั้งขึ้นเพราะคนอื่นเขาบอก...ไม่ใช่ 

มันตั้งตามเหตุแห่งศีลแห่งสติ ...ถ้าประกอบเหตุแห่งศีลแห่งสติในปัจจุบันนี่มากเพียงพอ จิตจะตั้งมั่นขึ้นไปตามลำดับเอง 

แต่อาจจะช้า ...ไอ้ที่มันช้าก็เพราะว่าทำน้อย ปล่อยปละละเลยมาก ...ความอยากมาก คิดมาก เรื่องมาก มากเรื่อง...เนี่ย พวกนี้ 

ถ้ามันตกอยู่ในอาการนี้ “มาก” เท่าไหร่ หรือเข้าไปมีเจตนาอยู่ในอาการเหล่านี้มากขึ้นเท่าไหร่ ...ผลแห่งสมาธิปัญญาก็น้อยลงเท่านั้น 

อันนี้คือหลักตามความเป็นจริง มันเป็นหลักอย่างนี้  ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ต้องอยู่ในหลักนี้ ...ประกอบเหตุเช่นใด...ผลได้อย่างนั้น 

ประกอบเหตุแห่งมรรค ประกอบเหตุแห่งศีล ประกอบเหตุแห่งสติ...ผลก็ได้เป็นจิตตั้งมั่น จิตเป็นสมาธิ 

ประกอบเหตุแห่งอวิชชาตัณหาอุปาทาน...จิตก็ฟุ้งซ่าน ล้มเหลว เหลวไหล เหลาะแหละ โลเล ขุ่นมัว เศร้าหมอง มีกิเลส...มาก ใหญ่ น้อย...ตามออกมา ไม่จบไม่สิ้น

นี่ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมันขึ้นอยู่กับเหตุ  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับการประกอบเหตุของสัตว์บุคคลนั้นๆ ...แต่มันมักจะเชื่อความคิดของตัวมันเองน่ะ 

เนี่ย คิดดีแล้ว วิเคราะห์ดีแล้ว คิดเองเออเอง เข้าใจเอาเอง...ก็ว่ามันน่า...มันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ ...มันก็ตายอยู่กับความคิดนั้นไป 

จิตมันก็ไม่บังเกิดอะไรเป็นมรรค อะไรเป็นผลขึ้นมา ไม่เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจนในตัวขันธ์ ตัวกาย ตัวจิตปัจจุบัน ตัวสิ่งแวดล้อมรอบตัวเองรอบขันธ์

อดทน ขยัน สร้างนิสัยระลึกรู้อยู่กับตัวบ่อยๆ  ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลาสถานที่ ไม่อ้างหน้าที่การงาน ไม่อ้างธุระปะปัง ...คือถ้าตั้งใจฝึกน่ะมันฝึกได้ จิตน่ะ มันก็ไม่ใช่ว่าดื้อด้านหรือว่าดื้อดึงจนเกินวิสัย

แต่ที่มันไม่ค่อยได้มรรค มันไม่ค่อยได้ผลกันนี่ ...เพราะมันไม่ทำ มันไม่ประกอบเหตุแห่งศีลแห่งสมาธิขึ้นมา มันไม่ประกอบเหตุแห่งองค์มรรคขึ้นมาเท่านั้นเอง

ถ้าสัตว์ในโลก บุคคลในโลก ขยันหมั่นเพียรในการประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิปัญญา ...พระอริยเจ้า มรรคผลนิพพานนี่ ไม่อดไม่อยากหรอกในโลกนี้

แต่พอมันยิ่งอยู่ในโลกนี้มานาน เกิดตายๆ มานาน ...เทคโนโลยี ความคิดความปรุงแต่ง ความซับซ้อนของความคิด ความซับซ้อนของอารมณ์ มันมีเหตุปัจจัยประกอบมาก

ความละเอียดแห่งความปรุงแต่งให้เกิดความซับซ้อนของเวทนาทั้งหลายทั้งปวงมันมาก ...มันเลยฉุดลาก มันเลยรั้ง มันเลยดึง มันเลยเหนี่ยว มันเลยเข้ามาเกาะกุม จนไม่ต้องมาทำมาหากินในองค์มรรคแล้ว

เนี่ย อยากเกิดมาช่วงนี้ทำไม ...ก็มันโง่ ก็มันขี้เกียจ ก็มันไม่ขยันหมั่นเพียรในการทำความรู้ความเข้าใจ ประกอบกระทำในเหตุแห่งมรรคทั้งหลายทั้งปวง

อย่าปล่อยให้มันโง่ซ้ำซาก หลงซ้ำซาก อยู่ในอาการเดิมๆ ซ้ำซาก วนไปเวียนมา ซ้ำซากอยู่ในความคิด ซ้ำซากอยู่ในเรื่องราวต่างๆ นานา ...ทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต 

เพ้อฝัน เพ้อเจ้อ ไม่มีสาระ เสียเวลา หมดเวลาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ พร้อมกับชีวิตที่ดับไปทุกขณะ ...สุดท้ายก็หมดอายุขัยไป ไม่มีสาระคุณค่าในการเกิด ในการดำรงชีวิต ในชาตินั้นๆ ไปเลย

อย่าให้เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าเป็น โมฆะบุรุษ โมฆะสตรี ...นี่ ไม่ต้องแข่งกันเป็น เพราะแปดพันล้านคนในโลกนี่ มันเป็นอย่างนั้นกันเยอะแล้ว โมฆะบุรุษ โมฆะสตรีนี่ 

อย่าไปเพิ่ม อย่าไปรันนิ่งนัมเบอร์กับเขา ลูกหลานชาวพุทธน่ะ พุทธมาตั้งแต่เกิด...แต่จิตมันยังไม่เป็นพุทธ มันยังเข้าไม่ถึงพุทธะ ยังเข้าไม่ถึงธรรมะ ยังเข้าไม่ถึงสังฆะ

แล้วเมื่อไหร่มันจะเข้าได้สักที 



คำสอน "พระอาจารย์"

(แผ่น 9)  แทร็ก 9/34


(หมายเหตุ : เข้าลิงก์อัพเดทนี้แล้วใช้ลิงก์บทความในบล็อกค่ะ)



Thank for image from ...service_ bannerjk

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560

"หมู"...รึเปล่า?





การรู้ การเห็น...การรู้กายปกติ 
กายเขาเป็นปกติธรรมดาหยุ่นๆ นี่ มันจะเป็นลักษณะอย่างเนี้ย 
ใจที่เรารู้ ก็รู้แบบเบาๆ มันไม่ได้กำ มันไม่ได้แข็งเขม็งตึง
รู้เบาๆ รู้ธรรมดาอย่างนี้ แล้วมันจะแข็งแรงขึ้นเอง เข้าใจมั้ย

ไม่ใช่ว่าปุ๊บนี่จะเอาให้ชัดเลย จะเอาให้รู้ชัด อย่างนี้มันเกินไปแล้ว 
  อย่าไปกำ รู้เบาๆ หยั่งๆ ลงไป หยั่งๆๆๆ  

คำว่าญาณนี่แปลว่าหยั่งรู้นะ 
ญาณ..ปรีชาญาณ คือการหยั่งรู้ในสองสิ่ง 
ใช้การหยั่งให้ชัด...หยั่งแล้วให้มันชัด  
ไม่ใช่ไปบังคับให้มันชัด มันกำอย่างนี้มันจะเครียดนะ 
เครียดแล้วแข็ง แข็งแล้วเดี๋ยวเปราะ  
ของไหนถ้าแข็งแล้วเปราะ แตกง่าย หักง่าย กะเทาะง่าย

แต่ถ้าเบาๆ หยุ่นๆ  รู้หยุ่นๆ รู้เบาๆ อย่างนี้ มันก็ไม่ได้กำแน่น 
รู้เบาๆ มันจะเหนียว ยืดหยุ่น แต่แข็งแรง ทนทาน  
อ่อนไหวแต่ไม่อ่อนแอ มันจะเป็นอย่างนั้น  
อ่อนไหวคือมันจะว่องไว สลับไหวพริบ พร้อมที่จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  
เมื่อกายเปลี่ยนมันก็เปลี่ยนได้พร้อมกัน

เนี่ย ต้องฉลาด...ต้องฉลาดในอุบาย ต้องฉลาดในวิถี  
เรียนรู้เอา...ประสบการณ์ ...ไม่ใช่ทื่อๆ มะลื่อ โง่ซึม 
ทำอะไรก็ทำไปเซ่อๆ ไปอย่างนั้นน่ะ ไม่มีปัญญา  

ต้องคอยสังเกตสอดส่องอยู่เสมอ 
ยังไงอันไหนหนักไป อันไหนเบาไป  
รู้ยังไงหนัก รู้ยังไงเบา  
ไอ้รู้ถ้าเบาเกินไปก็ไหล ไอ้รู้หนักเกินไปก็แข็ง 
นี่ รู้ยังไงที่จะรู้สบายๆ แต่ว่าอยู่ได้นาน 
อยู่กับกายได้ต่อเนื่อง เห็นสองสิ่งได้ชัดเจน

เนี่ย พวกนี้เป็นวิชาการที่ไม่มีในตำรา  
แต่มันมีในภาคปฏิบัติ มันมีในภาคสนาม 
มันถึงว่าต้องไปฝึกแบบแรงเยอร์น่ะ 
ไม่ใช่มาอยู่เรียนในเล็คเชอร์ 
ต้องแรงเยอร์ เข้าไปลงในสนาม

ไอ้พวกเรานี่เขาเรียกอะไร...หมู...หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม  
มันเก่งอย่างเนี้ย ไอ้ตอนฟัง...(เน้นเสียง) มันเข้าใจ่จจ รู้หมดทุกเรื่อง  
แต่ลงสนามจริงน่ะหมู...หมูทั้งนั้น (หัวเราะ) ...เสร็จทุกราย  
โดนเชือด โดนเชือดเอาไปตุ๋น  โดนเชือดแล้วโดนตุ๋น 
โดนโลกตุ๋นมั่ง โดนขันธ์นี่ตุ๋นมั่ง โดนคำพูดคนอื่นตุ๋น 
โดนอาการของคนอื่นตุ๋น ตุ๋นซะเปื่อยเลย

เพราะนั้น นิดนึงก็เอา หน่อยนึงก็เอา 
มีเวลาตอนไหนที่รู้ตัวได้ พยายามทำความชัดเจนตรงนั้น  
นิดเดียวก็ยังดีนะ ขอให้มันชัดเจน...ขอให้มันชัดเจน  
มันจะเป็นประสบการณ์ มันจะเป็นความชำนาญ  
มันเกิดความชำนาญ มันจะเกิดมีชวนะในตัวของมันเอง  
ชวนะคือว่องไวไหวพริบ พึ้บพั้บๆ กลับมา 

อย่าไปซึม ปล่อย
อาการซึมนี่จำไว้เลย...เดี๋ยวไหล เดี๋ยวเลื่อน ซึม เบลอ  
แล้วก็อะไรก็ไม่ชัด รู้ก็ไม่ชัด สิ่งที่ถูกรู้ก็ไม่ชัด...แต่ดูเหมือนรู้อยู่น่ะ  
อย่างนั้นน่ะเขาเรียกว่าซึมนะ เศร้าหมอง ขุ่นนะนั่นน่ะ 
ไม่ใช่สตินะ สติไม่ใช่อย่างนั้น สมาธิไม่ใช่อย่างนั้น  
สมาธิ สติ นี่ผ่องใสนะ แจ่มใสนะ ชัดเจนนะ ชัดเจนในตัวของมัน

คำว่าชัดนี่ คือชัดในปัจจุบันกับสิ่งที่รู้ แค่นั้นเองนะ 
ไม่ใช่ไปชัดเรื่องอื่นนะ  ไม่ใช่ไปชัดตามตำรา 
ไม่ได้ชัดในเรื่องราวคนอื่น หรือเข้าใจในเรื่องคนอื่น  
หรือเข้าใจในสิ่งที่...สภาวธรรมที่ยังไม่ถึง 
หรือเคยเข้าใจมา เคยได้ยินได้ฟัง  ...มันไม่ใช่


ชัดเจนในปัจจุบัน
นั่นแหละ สติจริง สมาธิจริง...ถึงบอกว่าต้องรู้จริง  

เมื่อรู้จริง...รู้จริงแล้วให้รู้ชัด เมื่อรู้จริงรู้ชัดแล้วรู้แจ้ง 
รู้แจ้งแล้วรู้วางเองน่ะ  รู้แจ้งแล้วมันจะวางเอง 

แล้วก็รู้แจ้งรู้วาง ต่อไปก็รู้ปล่อย รู้หลุด รู้พ้น  
รู้แล้วก็หลุด...รู้แล้วก็พ้น...รู้แล้วก็ดับ  
คราวนี้ จนสุดท้ายก็ดับไปดับมาๆ 
ดับจนกระทั่งดับตัวมันเองเลย

นั่นน่ะ ...อาศัยรู้อย่างเดียวนี่แหละ 


คำสอน "พระอาจารย์"
แทร็ก 7/1



หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบ
Thanks for image "cute baby owl photo"