วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

ให้มันเป็นไป




ถาม - หลวงพ่อคะ ปล่อยมันไปตามเหตุปัจจัย มันมีนัยยะว่ายังไง อะไรมันเป็นเหตุปัจจัยจริง ๆ ละคะ เราก็ว่าใช้ชีวิตที่ถูกต้องแล้วน่ะเจ้าค่ะ


ตอบ - ก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติ โดยที่สมมติว่าเราจะตั้งความหวังอะไร หรือจะทำอะไร จะตั้งใจทำอะไร หรือจะไม่ทำอะไรก็ตาม หรือว่าจะตั้งว่าอย่างนั้นอย่างนี้มั่ง...ก็ตั้งไป ก็ทำไปตามที่เราต้องการน่ะ อย่างนั้นตามปกติไป

แต่เมื่อถึงวาระที่...ลักษณะที่มันไม่ได้เป็นไปดั่งที่เราตั้งไว้ หรือที่เราคิดไว้ คาดไว้อย่างนี้ ...ถ้าถึงภาวะอย่างงั้นน่ะ ไม่ต้องดิ้นรนหรือว่าขวนขวาย หรือว่าดื้อดึงแล้วดันทุรังต่อด้วยการที่จะแก้ หรือว่าต้องทำให้ได้ หรือว่าต้องเปลี่ยนให้ได้ หรือว่าต้องอย่างนี้ ๆ

เมื่อถึงวาระที่จิตมันจะเริ่มเข้าไปมากขึ้น หรือว่า "ต้องได้" งั้นน่ะ ... ต้องปล่อยแล้ว เข้าใจมั้ย ต้องรู้จักคำว่าปล่อย ถอยออกแล้ว ให้มันเป็นไปเอง จะได้ก็ได้ จะไม่ได้ก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนก็เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน ตรงนี้เขาเรียกว่าปล่อยไปตามเหตุปัจจัยของมันเอง

โดยที่เอาความปรารถนาของเราถอยออกมา ๆ ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นการที่ไปฝืนเหตุและปัจจัย ตรงนี้จะมีปัญหาในการที่ไปสร้างกรรมขึ้นมาใหม่ …ไปพัวพันกะมัน หรือว่าเพื่อเป้าประสงค์ใดประสงค์หนึ่งที่เราปรารถนาอย่างนี้

เพราะมันจะมีจิตอีกตัวนึงของเรานี่เองแหละที่มันจะเข้าไปประกอบกระทำทั้งใน แง่บวกและแง่ลบ ให้มันดั่งใจในสิ่งที่มันไม่ดั่งใจ อะไรอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าเริ่มเข้าไปพัวพันแล้ว

ไอ้ใจที่รับรู้ตอนนั้นน่ะ มันก็ตามกำลังภูมิปัญญาของใจแล้ว ...ถ้าอย่างพวกเรา ๆ รับรู้นี่ พั้บ มันไม่ปล่อยให้เป็นอิสระน่ะ เข้าใจมั้ย มันจะเข้าไปแทรกแซง ยุ่งเลยอ่ะ "..รับไม่ได้ ..อันนี้ไม่ได้ ..มันต้องยังงั้นสิ ..มันควรจะเป็นยังงี้ ..ปล่อยให้เป็นงี้ไม่ได้ ..เราจะต้องทำยังงี้ ๆ"

ถ้าไม่มีสติรู้...มันก็หมายความว่าปล่อยให้อารมณ์เป็นตัวพาดำเนิน ...เพราะงั้นการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคนเนี่ย มันใช้ตัวความคิดกับอารมณ์เป็นตัวพาดำเนิน วิถีการทำงาน วิถีการอยู่ร่วมกับผู้คน วิถีการจะไปจะมา มันแล้วแต่ว่ามันอยากจะทำก็ทำไป ด้วยความคิดที่อยากนี้มันจะเป็นตัวพาดำเนิน


เพราะงั้นการเรียนรู้ให้มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือปล่อยให้มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่ ในนัยยะนึงนี่จิตมันจะเรียนรู้โดยการปล่อยวาง ...ยอมรับความเป็นจริงที่ปรากฏโดยไม่มีเงื่อนไข มันเป็นยังงั้น ถึงได้ว่าตามเหตุปัจจัยจริง ๆ

เพราะงั้นพอวาระสุดท้ายแล้ว เมื่อยอมรับตามเหตุปัจจัยได้จริง ๆ นี่หมายความว่าเราจะหยุดการเข้าไปกระทำโดยทั้งสิ้นทั้งปวง...อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ อะไรจะตั้งอยู่ก็ได้ อะไรจะดับไปก็ได้ เข้าใจมั้ย ก็ตามเรื่องของมันน่ะ มันจะอยู่นาน มันจะอยู่ไม่นาน มันจะมาอีก มันจะไม่มาอีก มันจะซ้ำซาก เกิดบ่อย อยู่นาน เกิดเร็วหายเร็วอย่างนี้ ...ก็จะไม่ไปเดือดเนื้อร้อนใจกับสิ่งที่มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

เพราะงั้นตรงนี้ปัญญามันก็จะเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเห็นว่า..เนี่ย สุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างเนี่ยมันเป็นสิ่งที่มันเป็นธรรมชาติที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเอง โดยที่เราหรือใครก็ตามนี่ไม่สามารถจะเข้าไปควบคุม ชี้นำ หรือว่าทำ หรือว่าให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้

จิตมันจะปล่อยออกหมดเลย แล้วก็จะเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของทุกอย่างนี่ มันเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ต่างหากพาดำเนิน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งหรือแม้กระทั่งเรา...ที่จะเป็นผู้กำหนด หรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือทำให้มันคงอยู่ หรือทำให้มันดับไปได้

เพราะงั้นปล่อยให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยปุ๊บ ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลายเป็นอิสระ ภายนอกก็เป็นอิสระในการตั้งอยู่ ดำเนินไป หมุนไป ภายในก็คือ กาย วาจา ใจของเราก็มีหน้าที่รับรู้แล้วก็ทำไป ...ถ้าดีก็ทำไป ประคับประคองการอยู่ร่วมกันโดยสมดุล สันติ

เพราะงั้นมันจะมีการยอมรับความจริงทั้งภายนอกและภายใน ...ภายในก็รับรู้ ภายนอกเขาก็ปรุงแต่งเขาก็แสดงอาการต่าง ๆ นานาไป ภายในเราก็รับรู้ด้วยอารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ว่ากันไป ก็ปล่อยให้มันมีไป ...แล้วสุดท้ายก็ดับทั้งสองฝ่าย เข้าใจมั้ย

มันก็เปลี่ยนไปทั้งคู่นั่นแหละ ภายในก็เปลี่ยน...ภายนอกก็เปลี่ยน ภายนอกเปลี่ยน...ภายในก็เปลี่ยน อย่างนี้ ... แต่ว่ามันต่างคนต่างหมุน แล้วก็จะไม่มีตัวที่สามตัวที่สี่ที่ว่าเรานี่...เป็นตัวเข้าไปแทรกแซง หรือไปยุ่ง ไปเปลี่ยนทั้งภายนอก ไปเปลี่ยนทั้งภายใน ... มันก็กลายเป็นต่างคนต่างอิสระทั้งขันธ์ภายนอก ขันธ์ภายใน...แล้วก็มีใจรับรู้

เนี่ย รู้ด้วยความเป็นกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา .



:09:


พระอาจารย์

Track : 1/31 (530526A)
http://ngankhamsorn1.blogspot.com/2017/04/131-1.html