วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

"อะไรๆ ก็พุทโธ"




พระอาจารย์ –  ยังมีอีกหลากหลายที่หลวงปู่ท่านเทศน์เรื่องของดวงจิตผู้รู้ นะ ...เวลาเพิ่นพูดถึงดวงจิตผู้รู้นี่ รับรอง เวลาฟังนี่จิตจะตื่นขึ้นมา

เขาชอบเอาไปลงกันว่าหลวงปู่สอนว่า... ภาวนาพุทโธไม่ให้ขาด ใช่ป่าว เคยได้ยินรึเปล่า ภาวนาพุทโธไม่ให้ขาด ... มันก็เลยไปพุทโธๆๆ พุทโธกันทั้งวัน


โยม –  ก็ไม่เข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  แต่คราวนี้ท่านบอกเราว่า... "ภาวนาพุทโธไม่ให้ขาด  คือหมายความว่า...อะไรๆ มันก็พุทโธ"  เข้าใจความหมายท่านไหม ...ว่าอะไรๆ ก็คือพุทโธ

คือความหมายของพุทโธในความหมายของท่านก็คือรู้...ผู้รู้ เข้าใจมั้ย  เพราะนั้นท่านบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรๆ ก็คือพุทโธ คือ...ต้องรู้

ไม่ใช่พุทโธเป็นคำพูด พ. อุ ทอ พุท  ธ. โอ โธ ...นี่ ถ้าไม่เข้าใจมันก็จะไปท่องพุทโธๆ โดยที่ไม่เข้าใจ

แต่ความหมายของท่านคือ อะไรๆ ก็พุทโธ ต้องพุทโธให้ได้ตลอดเวลา ...ความหมายของท่านคือ ต้องรู้ๆ ต้องรู้กับทุกอาการที่ผ่านมา ที่รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  

เห็นก็ต้องรู้ว่าเห็น ได้ยินก็ต้องรู้ว่าได้ยิน เดินก็รู้ว่าเดิน กังวลก็รู้ว่ากังวล คิดก็รู้ว่าคิด ฯลฯ ...เนี่ยแหละพุทโธไม่ขาดสาย คือความหมายของท่าน

แล้วก็คำเด็ด วจีเด็ด วาจาเด็ดของท่านคือ “ทุกข์ไม่ต้องบ่น อดทนเอา” (โยมหัวเราะกัน)  ...อย่ามาบ่น อย่ามาอ้อแอ้ๆ อ้างนั่นอ้างนี่ ...ทำไม่ได้ อารมณ์นั้นอารมณ์นี้เกิด จะแก้ยังไง จะทำยังไง 

ท่านบอกว่าอย่าบ่นๆ ทนเอา ทนไปจนกว่ามันจะดับไปเองน่ะ ...ดูซิ ใครจะแน่กว่าใคร 

มันจะแน่กว่าพระพุทธเจ้ารึเปล่า พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง มันดับน่ะ ...อย่ามาหาทางดับเองน่ะ เก่งกว่าพระพุทธเจ้ารึไง ศาสดาหัวแหลมน่ะ คิดว่าเราทำได้ แก้ได้หรือ...ทุกข์น่ะ

อดทนเอา เบื้องต้น ...นักภาวนา ความอดทนน้อย อยากได้เร็ว อยากให้ผ่านพ้นเร็วๆ อยากให้ข้ามเหมือนกับกระโดดค้ำถ่อเลยน่ะ ...ไม่ได้  ต้องอดทน พากเพียรไป

สมัยอยู่กับหลวงปู่นี่ อะไรๆ ที่ท่านสอน ท่านไม่ได้สอนด้วยคำพูด ท่านสอนด้วยการกระทำ ให้ทำ ... เนี่ย คือการสอนของครูบาอาจารย์ ท่านไม่สอนเป็นคำพูดหรอก แต่สอนให้เราเรียนรู้เอา  



น้อมกราบหลวงปู่ ครูบาอาจารย์


บนหนทางนัยยะที่จะหา
เสมือนว่ามีแสงส่องให้มองเห็น
เมตตาธรรมงดงามความฉ่ำเย็น
ดวงจิตเป็นผู้รู้ครูอาจารย์

ความมีอยู่นั้นมีแต่ไม่อยู่
มีในครูในศิษย์จิตรู้ผ่าน
จากมือหนึ่งสู่มือหนึ่งพึงพบพาน
มือของครูอาจารย์เป็นเช่นกัน

ละอองดาวส่องสว่างเห็นทางแล้ว
ละอองธรรมย้ำแนวทางมรรคมั่น
คำสอนนี้เพื่อปล่อยปละละถอนพลัน
วางทุกข์ขันธ์ปล่อยทิ้งทุกสิ่งไป.




ด้วยความสวัสดีปีใหม่ไทย
ขออานิสงส์ธรรมทานทั้งหลายที่ได้ตั้งใจแล้วด้วยดีเหล่านี้
ได้เป็นเครื่องยังความความสว่าง ความเจริญในธรรม 
เป็นประโยชน์แด่ทุกท่านโดยทั่วกันทุกประการเทอญ.



หมายเหตุ : 

อ่านเรื่องราวประวัดิ ปฏิปทา คำสอน 
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
ได้ที่กระทู้ "ละอองธรรม" เว็บ ลานธรรมเสวนา


"คำสอนพระอาจารย์" ...คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก แทร็ก 3/11



วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

ธรรมดา กลาง ธรรมชาติ



พระอาจารย์ –  เพราะนั้นการฝึกสติเนี่ย มันก็ดูเหมือนว่าฝึกสติเหมือนกัน  แต่ว่าสติส่วนมากที่เราฝึกกัน ไม่ว่าจะในการนั่งสมาธิ ในการเดินจงกรม ... มันจะฝึกเพื่อให้เป็นไปสู่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง 

คือมันมีเป้าหมาย ...ถ้าได้อารมณ์นั้นแล้วก็พยายามรักษาอารมณ์นั้นไว้ให้ได้นานที่สุดมากที่สุด ...สติมันจึงไม่เป็นกลางสักที สภาวะก็ไม่เป็นกลางสักที 

ถ้าสภาวะที่เป็นกลางนี่ มันจะไปๆ มาๆ  มันจะเป็นอิสระในการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไป...ตามเหตุและปัจจัย ...ไม่ใช่ตามอารมณ์เรา ไม่ใช่ตามการกระทำของเรา หรือการควบคุมของเรา...ไม่เกี่ยวกันเลย

เพราะนั้นเมื่อฝึกสติไปเรื่อยๆ...หมายถึงสติที่เป็นกลางนะ  ปั๊บเนี่ย เบื้องต้น ปัญหาแรกของคนที่เริ่มฝึกสติ แล้วเริ่มรู้จักสติที่เป็นกลางเป็น คือ...

จะเห็นตัวเองไม่ดีเลย จะเห็นจิตของเราไม่ดีเลย จะเห็นความคิดของเราไม่ดีเลย จะเห็นความสับสนวุ่นวาย ความที่ว่าไอ้นู่นไอ้นี่เป็นเรื่องเป็นราวตลอดเวลาเลย ...มันยิ่งดูยิ่งแย่ 

พูดง่ายๆ ต้องอดทนนะ ...ถ้ายิ่งดูยิ่งแย่นี่ให้รู้ไว้เลย เริ่มดีแล้ว เริ่มถูกแล้ว (หัวเราะกัน) ...แต่ถ้ายิ่งดูยิ่งดีนี่ ให้สงสัยไว้ก่อน...ให้เริ่มสงสัยไว้ก่อนว่าเข้าไปบังคับควบคุมรึเปล่า มันไปปิดบังตัวตนที่แท้จริงรึเปล่า 

แต่ถ้าดูแล้วดีแล้ว ด้วยความที่เรามั่นใจว่าเราไม่ได้ไปปิดบังมัน แล้วมันเป็นธรรมชาติของมัน ...แปลว่าจิตมันเริ่มคลายออกแล้ว มันเริ่มคลี่คลายออกจากรูปและนาม การเข้าไปหมายมั่นรูปและนาม 

เมื่อมันคลายออกจากการเข้าไปหมายมั่นรูปและนาม จิตมันจะเริ่มอยู่ในอาการที่ว่าเป็นปกติ เป็นธรรมดา ...ได้ยินคำพูด เห็นอาการทางตา ประสบกับเรื่องราวต่างๆ นานา รับรู้แล้วปุ๊บ...ก็เป็นปกติ มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา 

แปลว่าจิตมันเริ่มจางคลายออกแล้ว ...มีความคิดเกิดขึ้นก็ไม่ได้ทุรนทุราย  จำได้ว่าเขาว่าให้เราอย่างนั้น เขาพูดอย่างนี้ เขาแสดงอาการต่อเราอย่างนั้นอย่างนี้  พอนึกขึ้นมาได้ จำขึ้นมาได้ก็เฉยๆ ไม่ได้ตีโพยตีพายหรือว่าหูแดงตาแดง ...อย่างนี้ จิตมันเริ่มวางได้ในระดับนึง

ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ อยู่กับปกติของการรับรู้ไปเรื่อยๆ ...จนกว่ามันขาดกัน ขาดออกจากรูปและนามที่เรารับรู้ เรียกว่าต่างคนต่างอยู่ ...มันจะขาด ...ถ้ามันจะขาดแล้วมันจะขาดแบบต่างคนต่างอยู่  

ตาก็เห็นรูป สักแต่ว่าเห็น  หูได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน  จิตมีอาการต่างๆ นานา ความคิดความปรุงความแต่ง ความจำได้ ความรู้สึก ก็สักแต่ว่าจิต  อารมณ์ต่างๆ นานาที่ปรากฏขึ้น ก็สักแต่ว่าธรรม 

เนี่ย  มันจะแยกกันอยู่ แล้วไม่เข้ามาพัวพัน มาปนเปกัน มาเป็นของเราของเขา ...ตรงนี้จิตมันก็เริ่มมีความสุขมากขึ้น แต่ไม่ใช่สุขแบบกินข้าวอิ่ม ...สุขแบบไม่มีอะไร 

สุขแบบไม่ไปยินดียินร้าย และก็สุขแบบไม่เข้าไปมีอะไรกับมัน อย่างเนี้ย เขาเรียกว่ามีความสุขแล้ว ...แต่เป็นความสุขแบบเฉยๆ น่ะ ไม่ใช่สุขแบบ หูย  ตื่นเต้นดีใจหรือปีติ ไม่ใช่สุขแบบนั้น 

แต่เป็นสุขที่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเขา เป็นธรรมดา... สุขที่เป็นธรรมดา ท่านเรียกว่าเป็นสุข ...แล้วจะไม่ก่อภพ จะไม่ก่อเกิดความพัวพัน กับอาการ กับรูป กับนาม...ทั้งของเราเอง ทั้งของผู้อื่น 

อย่าว่าแต่ของภายนอกเลย แม้แต่รูปนามของตัวเองก็ยังแบบ...ดูเมื่อไหร่ก็เห็นเป็นเฉยๆ ไม่ได้ไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับมัน ไม่ได้ไปดีอกดีใจอะไรกับมัน ไม่ได้เข้าไปยินดี ไม่ได้เข้าไปยินร้ายกับอาการทางกาย กับอาการทางจิต ...มันจะอยู่อย่างนั้นเป็นปกติ

แล้วความปกตินั่นแหละจะเป็นปกติมากขึ้นๆ เป็นธรรมดามากขึ้นๆ นานขึ้น ต่อเนื่องขึ้น ...จนมันเป็นธรรมชาติ  ขันธ์ก็ส่วนขันธ์...ดำเนินไป  ธรรมชาติของใจรู้ก็รู้อย่างเดียว รู้เฉยๆ 

รู้เฉยๆ เป็นธรรมดา ไม่ไปบวก ไม่ไปลบ ...ทุกอย่างก็ดำเนินไป  โลกก็หมุนไป ขวาไปซ้าย ซ้ายไปขวา ...ก็ว่าไป เรื่องของเขา 

ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะไประราน เข้าไปมีเข้าไปเป็นอะไรกับเขา  หรือเข้าไปตั้งความเห็นใดความเห็นหนึ่งกับเขา เพื่อให้เกิดความเปรียบเทียบนั่นเปรียบเทียบนี่ 

เห็นมั้ย อยู่อย่างนั้นน่ะ เขาเรียกว่าอยู่แบบอิสระ ไม่ข้องเกี่ยวกัน ไม่พัวพันกัน ...อยู่แบบเป็นกลางๆ อยู่ในมัชฌิมาตลอด

มัชฌิมาก็จะแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นกลางมากขึ้น ไม่หวั่นไหว ไม่กระเทือน ...เห็นมั้ย ท่านเปรียบไว้ว่าจิตพระอรหันต์ จิตพระอริยะท่านหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน คือท่านไม่หวั่นไหวไปตามอาการของรูปและนามที่เปลี่ยน 

เพราะรูปและนามนี่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่คงที่เลย ...แต่พอมันขยับนิดนึง ตอนนี้ พวกเราเดือดร้อนแล้ว มากขึ้นก็เดือดร้อน น้อยลงก็เดือดร้อน...ดูเอา  เดี๋ยวก็ยินดี เดี๋ยวก็ยินร้าย ...ตลอดเวลา 

คือไม่ค่อยยอมรับมันเลยน่ะ ...เพราะเราจะมีค่ามาตรฐานของความสุขของเราอยู่เฉพาะแต่ละคน  ถ้าอย่างนี้ปุ๊บ..ผิดมาตรฐานกูแล้ว กูจะต้องเดือดร้อนแล้ว ...มันก็เตรียมเดือดร้อนเลย เตรียมเป็นทุกข์เลย 

อันนี้ได้มาตรฐาน...เอาเลย คว้าเลย งับปั๊บ จับ ดึงเลย ผูกไว้เลย ...ทั้งๆ ที่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราไปยุ่งกับเขาไม่ได้เลยนะ  แตะนิดเดียว...เดือดร้อนแล้ว 

บอกให้เลยว่าจิตเวลามันขาดจากกันแล้ว เวลาออกมาแตะนี่ ...แค่แตะนิดเดียวนี่เหมือนจับของร้อนเลย มันจะพั้บเลยทันที  ...นี่ ปัญญานะ ที่มันเห็นละเอียดมากขึ้น 

แค่ออกมารับรู้ด้วยอาการที่ยึดมั่นถือมั่น หรือจะเข้าไปมีเข้าไปเป็นนี่ แค่ขยับออกมาพั้บนี่ มันถอยเลย ...เหมือนเราจับกาน้ำร้อนเลยน่ะ มันเป็นอย่างนั้น

แต่ตอนนี้เราไม่ใช่แค่แตะ หูย...กอด เอามาเทิดทูนบูชา หวงแหน  ตัวก็เน่าเฟะร้อนพองอยู่แต่ไม่รู้ตัวเลย  นี่...คือมิจฉาทิฏฐินะ ...แล้วก็มาบ่น "ทำไมถึงทุกข์จังๆๆ" ...ไอ้ตัวกูก็กอดจัง แล้วก็บอกทำไมกูทุกข์จังๆ 

มิจฉาทิฏฐิมันไปปิดบังหมดเลย ...แม้แต่เริ่มการปฏิบัติ  พอเริ่มปฏิบัติก็ไขว่คว้าไว้เลย หาก่อนเลย  หาสภาวะใหม่ หาอารมณ์ใหม่ หาความสุขที่ใหม่กว่า ละเอียดกว่า ประณีตกว่า 

แค่ตั้งท่าไว้แค่นี้ เราบอกเลย...ผิดแล้ว  เพราะสมาธิหรือสติหรือว่าปัญญาจริงๆ นี่ ไม่ได้ไปเล่าเรียนของใหม่ หรือไปได้ของใหม่เลย ...แต่เป็นการกลับมาเห็นตามความเป็นจริงเท่าที่มีเท่าที่เป็นในปัจจุบันต่างหาก 

แล้วมาสำเหนียกศึกษากระบวนการของมัน เห็นกระบวนการของมัน ว่ามันเกิดอย่างไร มันมาจากไหน อะไรเป็นปัจจัยให้มันตั้งอยู่ อะไรเป็นปัจจัยให้มันตั้งอยู่นาน อะไรเป็นปัจจัยให้มันตั้งอยู่สั้น อะไรเป็นปัจจัยให้มันดับลง 

เนี่ย มันมี มันแสดงอยู่ตลอดเวลา ...แต่เราไม่เข้าใจ ไม่เห็นมัน  แล้วพยายามจะไปหา ไปค้น ...ถ้ายิ่งหายิ่งค้นน่ะยิ่งไม่เจอ ...อยู่เฉยๆ แล้วก็ดู สังเกตมัน 

ครั้งแรกไม่เห็น...ไม่ต้องกลัว  เดี๋ยวเกิดใหม่...ดูใหม่ เกิดอีก...ดูอีก ...เดี๋ยวมันจะไวขึ้น จะละเอียดขึ้น มันก็...อ๋อ ก่อนไอ้นี่เกิด ไอ้นี่เกิดก่อน ครั้งก่อนยังไม่เคยเห็น พอมาดูครั้งนี้ เอ้า เห็นแล้วโว้ย ไอ้นี่เกิดก่อนเว้ยถึงไอ้นี้เกิดอ่ะ 

มันจะเริ่มละเอียดลออขึ้น มากขึ้น ไวขึ้น เพื่อให้กลับมาเห็นกระบวนการหรือว่าปัจจยาการของมัน ว่าสิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้จึงเกิด สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้จึงเกิดๆ ...แล้วมันจะเห็นจนถึงว่า “ต้น” ของปัจจยาการคืออะไร 

เหมือนกับแม่น้ำปิงทั้งสายน่ะ เราใช้น้ำอาบใช้กิน ...แต่เราไม่เคยรู้ว่าต้นน้ำจริงๆ มันอยู่ที่ไหน มีแต่ใช้อย่างเดียว กินอย่างเดียว 

หรือเอามาเล่นน้ำ เอาน้ำไปสาดคนอื่นมั่งเวลาสงกรานต์ เอาน้ำมาอาบมาชำระสิ่งโสโครกสกปรกออกไปมั่ง ...ใช้กันลูกเดียว แต่ไม่เคยรู้เลยว่าต้นน้ำของมันจริงๆ มันเป็นยังไงมายังไง 

เหมือนกับการที่เราอยู่กับอารมณ์ ใช้กับความรู้สึก ใช้กับอาการนี้ ก็มีดีมั่งไม่ดีมั่ง ...แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ไอ้ที่เราอยู่กับมันนี่ ใช้กับมันนี่ มันมาอย่างไร อะไรเป็นปัจจัยให้มันมา... 




บทเย็นๆ รับสงกรานต์กัน จาก แทร็ก 2/13 ช่วง 2

อ่านบทเต็มได้ในบล็อกนี้ "คำสอนพระอาจารย์" แผ่น 2





วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บริษัท (เรา) จำกัด





พระอาจารย์  บอกแล้วว่า "สติ" เป็นแค่ยาม ... ยามทำหน้าที่อะไร แล้วตอนนี้สติของโยมเป็นยามรึเปล่า

โยม  ไม่ใช่ค่ะ เหมือนมีความอยากที่จะควบคุมให้...ไม่เป็นทุกข์

พระอาจารย์  จะไปเป็นผู้จัดการสิ ...เปลี่ยนตำแหน่งจากยามเป็นผู้จัดการ แล้วก็จะไปเป็นเจ้าของบริษัทรึเปล่า..ใช่ป่าว

โยม  ใช่ ..จะควบคุมเจ้าค่ะ

พระอาจารย์  เออ นั่นแหละ แล้วใครบอกว่าบริษัทนี้เป็นของโยม

โยม  มันโกรธแล้วมันเป็นทุกข์เจ้าค่ะ

พระอาจารย์  ใครบอกว่ามันเป็นของโยม ทึกทักเอารึเปล่า ... ทึกทักเอาเองว่ามันเป็นของโยมเหรอ

กายนี้มันบอกมั้ยว่ามันเป็นของโยม จิตนี้มันบอกมั้ยว่ามันเป็นของโยม ...แต่โยมพยายามจะเข้าไปเทคโอเวอร์อยู่เรื่อย โดยเข้าใจว่าบริษัทนี้ไม่ดีเลย ไม่ได้ดั่งใจกูเลย

สติที่ถูกต้องน่ะ บอกแล้วว่าทำหน้าที่เป็นยาม...รู้ยังไง มีแต่รู้...ครับผมๆๆ ...ผ่าน ครับผม...ผ่าน รู้เฉยๆ ...ใครเข้าก็ได้ใครออกก็ได้ครับ ผมมีหน้าที่...ยืนเป็นยามเฝ้าดูอย่างเดียวครับ

คุณจะเข้าไปทำอะไรกับบริษัทคุณไปทำ คุณจะไปทำให้ดีกับบริษัทก็ทำ ...ผมมีหน้าที่รู้เฉยๆ ครับ ผมอยู่หน้าประตูเป็นยามครับ …เข้าใจคำว่า สติมั้ย ทีนี้ ...แล้วมันจึงจะเห็นว่าบริษัทนี้ไม่ใช่ของกู

แต่เราพยายามจะยกระดับตัวเองอยู่เรื่อย ...จะมาเป็นซีอีโอรึไง

เพราะนั้นก็ต้องหยุด...หยุดเป้าหมาย หยุดการจะเป็นคนดี หยุดเข้าไปให้ความหมายของคำว่าดีหรือไม่ดี ถ้าเรามีความหมายว่าดีเมื่อไหร่ คนเขาพูดว่าดีก็ดี ถ้าเรามีความหมายว่าดีเมื่อไหร่ คนเขาว่าไม่ดี เราก็ไม่ดี ...ทุกข์มันอยู่แค่นั้นแหละ

โยม  หยุดตั้งเป้าหมาย...

พระอาจารย์  ที่จะเป็นคนดี ที่จะให้จิตดี ...บอกแล้วว่าติดก็รู้ติด มีก็รู้ว่ามี มากก็รู้ว่ามาก น้อยก็รู้ว่าน้อย ไม่มีอะไรก็รู้ว่าไม่มีอะไร

โยม  มันติดเหมือนเหนียวแน่นเลยเจ้าค่ะ เหมือนทำให้เราเป็นทุกข์...เพราะว่าตัวที่เราอยากมีลักษณะดูดี ...เป็นคนดี ทำให้เราทุกข์เจ้าค่ะ แต่ว่าบางทีก็รู้ บางทีก็ไม่รู้ แล้วก็กลับมาเป็นสันดานเดิมอีกนี่ เจ้าค่ะ  เพราะว่าปกติเราก็..โลโก้ของเราคือ สวดมนต์ไหว้พระ อยากทำดีทำดี ...พอเราเกิดเหตุการณ์ซึ่งร้ายแรงนี่

พระอาจารย์  อยากมีภาพของนักปฏิบัติที่ดี

โยม  ค่ะ ...แล้วเสร็จแล้วพอมีคนตำหนิน่ะ มันเหมือนผิดหวังมากเจ้าค่ะ ผิดหวังมากเลย

พระอาจารย์ – เสีย self เสียความเป็นนักปฏิบัติหมด

โยม  (หัวเราะ) ใช่เจ้าค่ะ

พระอาจารย์  เสมือนเขาตี...เขาก็ตีถูกขนดหางน่ะ ตีถูกจุดอ่อน ที่เราตั้งค่าไว้ แค่นั้นเอง

ไอ้ค่านั่นคือภพของนักปฏิบัติ ตัวตนที่ดีกว่าตัวตนของความเป็นจริง ... แล้วมันก็พยายามหนีตัวตนของความเป็นจริง เหมือนกับคว้าเงาน่ะ จับเท่าไหร่ก็ไม่เจอสักที ๆ ...ก็เงาอ่ะ

แต่ตัวจริงนี่หนีตลอด เหมือนกับเราวิ่งไล่เหยียบเงา ไม่เห็นมันตายสักที หรือว่าคว้าจะเอามาเป็นสมบัติของตัวเอง ก็ไม่เคยได้สักที ...ปัญหาคือไอ้ตัวของเรานั่นแหละ

ต้องรู้อยู่ตรงนั้นแหละ อะไรเกิดขึ้นก็รู้อยู่ตรงนั้น มันจะเป็นยังไงก็ช่าง ไม่เอาดีเอาชั่วมาเป็นตัวตัดสิน ไม่เอาถูกเอาผิดมาเป็นตัวตัดสิน ...เอาเป็นว่ามันปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง เป็นปรากฏการณ์หนึ่งของจิต เป็นอาการหนึ่งของจิต

โยม  มันรู้สึกไม่ค่อยสบายตลอดฮ่ะ จิตไม่ค่อยสบายเจ้าค่ะ

พระอาจารย์   ก็รู้ว่าไม่สบาย ...แล้วก็รู้เข้าไปว่าเหตุของทุกข์จริงๆ มันอยู่ตรงไหน ...ดูเข้าไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะเห็นว่า เพราะเราอยากดี

ดูไปดูมาแล้วมันจะเห็นเองแหละ ...เพราะความอยากกับความไม่อยาก..สองตัว ... แต่เราไม่เคยเห็น

โยม (อีกคน)   ก็พอเอามาเปรียบเทียบกับทางโลกแล้วก็ใช่เลย ไอ้ความที่เราอยากๆ ...อยากที่จะให้คนอื่นยอมรับเราน่ะ     

พระอาจารย์ –  อยากดีอยากเด่น 

โยม (อีกคน)   เพียงแค่เรายอมรับว่า เฮ้ย ก็ชั้นพอใจแค่ชั้นได้ทำหน้าที่ชั้น ชั้นก็น่าจะพอแล้วล่ะ ...มันไม่พอไงเจ้าคะ มันก็เลยอยากเป็นผู้จัดการ อยากเป็นซีอีโอ

พระอาจารย์   ก็บอกแล้วไงบริษัทนี้ เขาไม่เคยบอกว่าเป็นของเรา ...บริษัทกายจำกัด บริษัทจิตจำกัด เขาเป็นมหาชน เขาเป็นของมหาชน ...โยมก็เป็นผู้ถือหุ้นแค่หนึ่งหุ้น แค่นั้นเอง แต่ไม่ใช่ของเรา 

เขาเป็นของสาธารณะ ของกลางน่ะ ...ก็ทำไม บทเขาจะล้มละลายขึ้นมานี่ เอาไม่อยู่หรอก ตายหมดไม่เหลือ ควบคุมไม่ได้ ...แค่หุ้นเดียวไปทำอะไรได้
พระพุทธเจ้าก็ให้มาเห็นตรงเนี้ย แล้วก็ยอมรับความเป็นจริงอันนี้ให้ได้ ...ไม่ได้ก็ต้องได้  

ดูเข้าไปจนกว่าจะยอมรับความจริงนี้ว่า มันไม่ใช่เรื่องของเราเลย ...แล้ว "เรา" ก็จะหมดความหมายไปเอง  เพราะไม่ใช่ "เรา" เข้าไปจัดการได้ ...มันเป็นของกลาง 

เกิดมานี่ กว่าจะมารู้ว่าเป็นผู้หญิงนี่กี่ขวบ  พอรู้แล้ว.. เลือกได้มั้ย เปลี่ยนได้มั้ย ...แล้วยังมาบอกว่าของเราได้ไง กำหนดเพศตัวเองยังไม่ได้เลย ...นอกจากไม่ได้แล้วต้องอยู่กับมัน...จนกว่าบริษัทนี้ล้มละลายอ่ะ 

แล้วมาบอกว่าเป็นเจ้าของได้ยังไง  หน้าตาก็เป็นยังงี้ ผิวพรรณก็เป็นยังงี้   จะพอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม เปลี่ยนไม่ได้อ่ะ ...แล้วบอกเป็นของเรายังไง จะไปเป็นผู้จัดการอะไรกับมันล่ะ


โยม   เป็นผู้จัดการ เป็นเจ้าของบริษัท เป็นเยอะด้วยเจ้าค่ะ (หัวเราะ)

พระอาจารย์   เออ นั่นแหละคือปัญหาของคนทั้งโลกน่ะ ...เพราะความเข้าใจผิด หรือว่ามิจฉาทิฏฐิ หรือความหลง เข้าใจมั้ย 

หลงเอาสิ่งที่ไม่เป็นของเรามาเป็นของเราน่ะ แล้วก็เอาของไม่ใช่ของเรานี่ไปทำเรื่องราวมากมายก่ายกอง พัวพันไปหมด วุ่นวี่วุ่นวาย แล้วก็ไปดึงเอาปัญหาต่างๆ นานา มาทับถม ...ก็เป็นเรื่องของเราไปหมด

หยุด...อยู่ในที่อันเดียว ที่รู้น่ะ ...หยุดอยู่ที่รู้นั่นแหละ  เข้าใจมั้ย  มันถึงจะหยุดได้  อะไรเกิดขึ้น...รู้ นี่มันหยุดแล้ว ...มีอะไรก็รู้ ๆ  รู้โง่ๆ 

ไม่ได้รู้อะไรหรอก รู้ในสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า นั่นแหละ รู้ไปเหอะ รู้โง่ๆ ...ไม่ต้องรู้เกินนี้หรอก

มันไม่ดีก็รู้ว่า เออ มันไม่ดี ไม่ต้องไปคิดต่อว่า ..จะดียังไงวะ อย่างเนี้ย ไอ้นี่รู้เกิน รู้เกินจริง เข้าใจมั้ย เข้าใจคำว่าเกินจริงมั้ย


โยม   เกินจริง

พระอาจารย์   เกินจริงในปัจจุบัน ...ถ้าออกนอกปัจจุบันเมื่อไหร่นี่ สับสนวุ่นวาย ลังเลสงสัย  ไม่รู้จักพอ ได้คืบเอาศอก ได้ศอกเอาวา ได้วาเอาโยชน์ ได้โยชน์เอาไม่รู้จักประมาณน่ะ 

ถ้าออกนอกรู้นี้ ปัจจุบันตรงนี้ มันไม่มีคำว่าหยุดหรอก ...ต้องตัดอกตัดใจ เด็ดเดี่ยวอยู่ในปัจจุบัน ตายเป็นตาย เข้าใจมั้ย มันจะแย่จะตายกับอารมณ์ตรงนี้ก็อยู่กับมัน

พระพุทธเจ้าบอกว่าทุกข์ให้กำหนดรู้น่ะ ท่านไม่ได้บอกให้แก้ ท่านไม่ได้บอกให้หนี ท่านไม่เคยบอกเลยนะว่าให้ดับทุกข์ ...ท่านบอกให้รู้ทุกข์ตามความเป็นจริง

ไอ้ที่ให้ดับน่ะไม่ยอมดับ... ตัณหา อุปาทาน เนี่ย ไม่ดับ...ความอยากกับความไม่อยาก 




คัดลอกโดยทำการตัดทอนมาจัดเรียงใหม่จาก
"คำสอน พระอาจารย์" แผ่น 2 แทร็ก 2/11
อ่านคำสอนฉบับเต็มได้ที่


วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

knock...knock...knock...out !!!




:09: 


แต่ตอนนี้ถามดูว่า...ความไม่รู้อยู่ไหน อวิชชาอยู่ไหน
ต้นตอรากเหง้าของกิเลส การเกิดขึ้นของอารมณ์มันมาจากตรงไหน
หน้าตาของไอ้ต้นตอนั้นมันคืออะไร ...เห็นมั้ยเล่า 


บอกแล้ว นารายณ์บรรทมสินธ์ ...มันมองไม่เห็นหรอก 
สงบนิ่งแนบแน่นอยู่เป็นเนื้อเดียวกันกับใจนะ ...
ถึงบอกว่า ถ้าไม่ยิบย่อยอย่างนี้ 
มันเข้าไม่ถึงตัวหัวหน้าของมัน พ่อแม่ของมันอยู่ข้างในนี้ 
พอมันร้อนตัวเพราะว่าเสนามารเหล่าบริวารมือตีนมันง่อยเปลี้ยหรือว่าขาดไป 
ทีนี้มันต้องออกโรงเองแล้ว 


เนี่ย กูเฝ้ารู้ดูเห็นมาหลายภพหลายชาติ
เพื่อจะหาหน้าตาของอวิชชา ...เพิ่งเห็นหน้ามันตอนนี้นี่เอง

ใกล้ตายแล้ว ...นี่ใกล้ตายแล้ว
ถ้าเห็นหน้ากันนี่คือว่าใกล้ตายแล้วนะ...ขยญาณ

อยู่กับมันมาเป็นอเนกชาตินี่
เพื่อค้นหาอวิชชา เพื่อจะเห็นหน้าค่าตาของมัน

เขาเรียกว่า มหาเหตุ มหาสมุทัย

.....

เพราะนั้นถ้าไม่บากบั่น ตั้งมั่น ใส่ใจ ทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออก
โดยไม่ขาดตกบกพร่องเว้นวรรคขาดตอนเลยนี่
ก็จะลบล้างกิเลสจากใจไม่ได้ โดยหมดจดและสิ้นเชิง


นี่คือพูดให้แรงไว้ พูดให้หนักไว้ ...
ก็เพื่อให้เห็นว่านี่ จะต้องเข้าถึงจุดนี้เท่านั้น
การพากเพียรนั้นต้องเรียกว่าสุดจริงๆ...
ศีลสมาธิปัญญาจึงจะถึงที่เรียกว่าบริบูรณ์หรือว่าสุดจริงๆ
...เรียกว่าสตินี่ไม่มีขาดเลยล่ะ

.....

ตั้งแต่ครูบาอาจารย์ทุกองค์ พระอรหันต์พระอริยะทุกองค์
ท่านบอกเอาตายเข้าแลกทั้งสิ้น
เอาชีวิตเข้าแลก หมายความว่าทุกอย่างสละได้หมด
เพื่อจะเอากาย เอารู้ เอาปัจจุบันไว้ เอาศีลสมาธิปัญญาไว้
นอกนั้นทิ้งให้หมดโดยที่ไม่อาลัยอาวรณ์เลย

นี่จึงต้องฝึกกำลังใจ กำลังสมาธิ ตั้งมั่นให้ถึงขั้นนั้น
จึงจะเข้าไปเผชิญหน้ากับอาสวะ ...เรียกว่าเป็นมวยที่พอเทียบชั้นกัน



ในระดับพวกเราตอนนี้เหรอ เหมือนกับรุ่นมินิ...มินิฟลายเวทกับเฮฟวี่เวทน่ะ เข้าใจมั้ย ... 
มันว่า “อีหนูมานี่ๆ” ปึ้บ แค่นี้... ยังไม่ได้ต่อยนะ ... 
แค่นี้ก็ปลิวแบบ โอ้โหย ละล่องแบบกู่ไม่กลับเลยอ่ะ 

ดูเอาเอง จิตของพวกเราน่ะ ...
กระทบอะไรนิดอะไรหน่อยนี่ ปิ้วววว หายไปแบบสามวันสามคืน 
กว่าจะ...เฮ้อ ฮ้า กว่าจะน้อมกลับมาได้ กว่าจะทำใจได้ ... 
ดูเอาแล้วกัน ว่ากำลังศีลสมาธิมันระดับไหนกับอาสวะ

นี่ยังไม่เห็นหน้าค่าตาของอาสวะโดยตรง .... นี่แค่เสนามันนะ มือตีนของมันนะ ... 
เราถึงบอกว่า ถ้าไม่ยิ่งยวดจริงๆ
ไม่สามารถจะเผชิญหน้ากับมันได้เลยด้วยซ้ำ ...คนละรุ่นๆ


เพราะนั้นเราก็เร่งทำน้ำหนัก จากมินิฟลายเวทขึ้นมา อัพขึ้นจนถึงซุปเปอร์เฮฟวี่เวท ... 
ทีนี้ล่ะ เคยเห็นมั้ย ประเภทซุปเปอร์เฮฟวี่เวทนี่...
แค่ย่างขึ้นบันไดก็กระเทือนแล้ว ...โลกกระเทือนแล้ว 

เพราะมันหนักแน่นน่ะ ... โลกนี่กระเทือนนะ ล้มทีกระเทือน ...
กระแทกกระทั้นกันทีนี่ กระเทือนสามโลกธาตุเลยนะ ...มันหนัก ขั้นหนักแล้ว

ความรู้ที่มันไปรับกับโลกธาตุ ...เวลามันล้มที กระเทือนทีนี่... ตึง...
ยิ่งกว่าอาฟเตอร์ช็อคอีก ...มันกระเทือนสามโลกธาตุเลย

นี่ เขาเรียกว่า มวย...เข้าขั้นตายกันน่ะ ล้มทีตายเลยน่ะ ...มันกระเทือนหมด





นี่จึงพูดให้หนักไว้ ...จะได้เห็นว่า

ไอ้ขี้เกียจประมาณนี้เหรอ... อย่าฝัน

...ต้องเอาให้มันได้กว่านั้น



:09: 

คัดลอกโดยจัดเรียงใหม่จาก
คำสอน "พระอาจารย์" 
แผ่น 12 แทร็ก 12/5



วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

Action ! ! ! ! .....





พระอาจารย์ –  ถ้าเราเชื่อเรื่องของกรรม กฎแห่งกรรมแล้วนี่ ... Action เท่ากับ Reaction ... มันเป็นกฎธรรมชาติที่ว่า...คุณออกแรงกระทำเท่าไหร่ คุณจะได้รับผลเท่านั้น  

ถ้าคุณชกกำแพงน่ะ ด้วยหมัดที่กำไว้...แล้วมีเจตนาจะชกให้สุดแรงเกิดน่ะ  คุณจะต้องเจ็บมากขึ้นเท่านั้น...โดยที่ไม่ต้องมีใครทำให้คุณเจ็บเลย

นี่คือกฎของธรรมชาติ นี่คือกฎของกรรม นี่คือกฎแห่งกรรม ...ไม่มีใครหรอกมาเอาคืน ไม่มีใครหรอกมาเป็นเจ้าหนี้เจ้ากรรม จองเวรจองกรรม  แล้วมาชี้ว่า "นี่ จะหมดแล้วนะ ที่ฉันเอานี่มันสะใจฉันแล้ว" ... อู้ย อะไรมันง่ายปานนั้น

ดูพระโมคคัลลาน์ ...เศษกรรมของท่านที่ตีพ่อตีแม่ลงเหวน่ะ สุดท้ายก็ยังโดนตี จนกระดูกแหลก ...พระอรหันต์นะนั่นน่ะ ก็ต้องชดใช้จนหยดสุดท้าย อณูสุดท้ายของการกระทำ action นั้นๆ ...จนมันหมดซึ่งแรง action เป็น reaction สุดท้าย ท้ายสุด

ท่านหนีสามครั้งนะ ก็ไม่พ้น สุดท้ายต้องยอม จนต้องยอมหมดสิ้นกับกรรมนั้นๆ จริงๆ ...นี่คือความสมดุล คืนความสมดุลให้โลก ...จนถึงที่สุดไม่มีอะไรเหลือติดค้างข้องคา แม้แต่แรง อำนาจ วิถี อณูใดอณูหนึ่ง...ยังไม่เหลือ 

เห็นมั้ยว่าท่านยอมรับกฎแห่งกรรมโดยสมบูรณ์ ...ซึ่งจริงๆ ท่านหนีได้ เลี่ยงได้ เหาะหนีสามครั้งสี่ครั้ง หรือจะไม่ยอมถูกตีจนตายก็ยังได้ ... แต่ท่านดูแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้  ถึงท่านจะหนีไปแค่ไหน ...ตายแล้วก็ยังเข้านิพพานไม่ได้ เชื่อมั้ย 

หากยังเหลือเศษกรรม ...แม้จิตจะถึงอรหัตแล้วก็ตาม  แต่ยังต้องไปค้างข้องอยู่ในภพใดภพหนึ่ง  เพื่อรอให้หมดซึ่งกรรม อันเป็นสุดท้ายท้ายสุดนี้ ...นี่ จึงไม่มีคำว่าใครเหนือกว่ากรรมเลย


โยม –  แล้วที่ได้ยินมาว่า ...ถ้าเราสำนึกได้ก่อน หรือเราขอขมากรรมไปเรื่อยๆ นี่ จะช่วยผ่อนคลายกรรมนั้น  อันนี้ช่วยได้ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ลักษณะนี้ เขาเรียกว่าการอโหสิกรรม ...มันเป็นอุบาย


โยม –  อุบายให้จิตเรา

พระอาจารย์ –  หมายความว่าให้จิตเนี่ย...คลายจากความยึดในการกระทำนั้นๆ ... คือยิ่งรู้สึกมันมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าไปผูกมันแน่นเท่านั้น ...ก็ใช้คำเป็นกุศโลบายว่าขอขมา ขออโหสิกรรม  


แต่ในลักษณะจิตของพวกเรานี่ ไม่ได้อโหสิกรรมตลอดเวลา เข้าใจมั้ย  มันยังมีการข้องและคา ยึดและถือ ...ตรงนี้ท่านก็ใช้คำว่าอโหสิกรรมนี่...มาเป็นอุบาย 

เพื่อให้จิตมันคลายออกจากการข้อง ยึดมั่น แนบแน่น จริงจัง เอาเป็นเอาตายกับสิ่งนั้นๆ การกระทำนั้นๆ แล้วไม่ยอมจบ  เพื่อให้มันคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น ...จากครุกรรมก็จะเบาลงเป็นลหุกรรม

เพราะนั้นตัวลหุ ตัวครุ นี่...มันอยู่ที่อาจิณกรรม หรือความซ้ำซาก ... ถ้าซ้ำซากลงไปนี่ก็ครุล่ะ  คือคิดทั้งวัน ตื่นก็คิด นั่งก็คิด ยืนก็คิดแต่เรื่องเดิมน่ะ โกรธก็โกรธคนเดิมน่ะ ...นั่นครุ เดี๋ยวก็เป็นครุ หนักขึ้นเรื่อยๆ นะ 

แต่ถ้ามันอโหสิ เออ แล้วไปๆๆ ... กรรมที่จะเกิดต่อไปในอนาคต...ถือเป็นลหุ เบาลงไปเรื่อยๆ ...จนหยุดคิดโดยสิ้นเชิง หลุดจากกรรมที่จะได้ในอนาคต ไม่มีแล้ว เข้าใจมั้ย

เพราะจิตมันจะสร้างภพรอ ...ยิ่งสร้างหนักแน่นขึ้นเท่าไหร่ มั่นคงเท่าไหร่ เที่ยงขึ้นเท่าไหร่นะ...ครุ รอรับได้เลยๆ ...แล้วมันจะเจอกันเมื่อไหร่..."ไม่มึงตาย ก็กูตาย" นั่นแหละ คุรุ ...คิดกันเข้าไปเถอะ ไม่ยอมแล้วไม่ยอมเลิก ไม่ยอมอโหสิซึ่งกันและกัน

แต่ถ้าถืออโหสิ ...เออ ช่างหัวมันเถอะ ปล่อย อโหสิ ...จิตมันก็เลิกคิด หยุดคิด หยุดไปซ้ำซาก เป็นครุ เป็นอาจิณ ...อาจิณกรรมคือการสร้างกรรมในปัจจุบันนั่นน่ะจะเป็นอาจิณกรรม

พอมันถอยจากครุมาเป็นลหุ...เบาๆ บางๆ  แล้วก็ถืออโหสิไปๆ  จนคลาย จนรู้สึกว่าคิดก็ได้ไม่คิดก็ได้  จิตก็ราบเรียบเป็นกลาง ... ตรงนั้นน่ะคือการไม่เข้าไปผูกกรรม 

นี่คือวิถีของจิตที่ฝึก...ต้องฝึก ต้องอบรม ...แล้วมันจะรู้ว่า ทำ พูด คิด อย่างไรจึงเรียกว่าอยู่เหนือกรรม ไม่อยู่ใต้อำนาจของกรรม ...มันต้องสำรวมจิตทุกขณะ ทุกบุคคลด้วย  วาจาด้วย กายด้วย 


เพราะในระหว่างวัน...ทุกวัน...ทั้งชีวิตนี่  จิตนี่สร้างมโนกรรมไว้...ไม่ถ้วนเลย ...เพราะเราอยู่ด้วยความเผลอเพลิน เพราะอยู่ด้วยความไม่รู้ตัว เพราะอยู่ด้วยความปล่อยปละละเลย 

เพราะอยู่ด้วยความที่ว่าตามอำเภอใจ ตามอำเภอความอยาก ความคิด ...พวกนี้ มันจะสร้างภพน้อย ภพใหญ่ ภพหยาบ ภพละเอียด ภพประณีต ภพอันเลว ภพอันดี ...เยอะแยะ

พอเหตุควรปรากฏ วิบาก...ปัจจุบันปรากฏด้วยเหตุอันควร บุคคลอันควร...พอดีกัน สังเคราะห์กันปึ้บ เสริมสวมได้กับภพไหนในจิต...ปัง...ชาติบังเกิด อุปาทานชาติ อุปาทานขันธ์ ตรงตามเป็นปัจจุบันชาติปัจจุบันขันธ์...ได้เลย

นี่คือระบบ...ซึ่งไม่มีใครจัดการระบบนี้ ... นี่คือกฎ แต่เป็นกฎของธรรมชาติ นี่คือกฎของจักรวาล 

นี่คือกฎของสังสารวัฏกับผู้ที่อยู่ในสังสารวัฏ...จะต้องอยู่ภายใต้กฎนี้ โดยมิอาจก้าวข้าม มิอาจล่วงเกิน มิอาจเปลี่ยนแปลง มิอาจแก้ไข ด้วยอำนาจใดอำนาจหนึ่งเลย




คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
คำสอน "พระอาจารย์" แผ่น 11 แทร็ก 11/13 ช่วง 1