วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ก็ว่ารู้...แล้วทำไมไม่เชื่อ



รูปภาพถูกใส่ลงไปแล้ว


:09:


เราอยู่กับกายทั้งวี่ทั้งวันนี่
เรายังไม่รู้จักกายจริงๆ เลย ...ไม่เห็นกายจริงๆ เลย

แต่คิดว่านี่ “กายเรา” ซะอย่างงั้นน่ะ

เห็นมั้ย ... เห็นจิตมันโง่มั้ย เห็นจิตผู้ไม่รู้มั้ย
มันยึดเอาแบบดื้อๆ ด้านๆ มันถือเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล
แล้วจะเรียกว่ามันฉลาดหรือมันโง่ดี

ครูบาอาจารย์ถึงบอกมันโง่ไง จิตมันโง่ไง
แล้วบอกมันเท่าไหร่ก็ไม่ยอมๆ
อ่านหนังสือเข้าใจเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง ... ใช่มั้ย

ใครไม่รู้บ้าง...อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
รู้ ...อ่านมาทั้งนั้นน่ะ ได้ยินมาก็เยอะ
ใครไม่รู้ว่ากายเป็นอสุภะ
ใครไม่รู้จักว่ากายนี้เป็นธาตุดินน้ำไฟลม
รู้...ทำไมจะไม่รู้.....แต่กูไม่เชื่ออ่ะ

เห็นมั้ย จิตมันดื้อน่ะ
มันถือเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล หาเหตุผลไม่ได้
กูจะถือว่าเป็นเราอยู่วันยังค่ำอ่ะ...ไม่ยอมๆ
ทั้งๆ ที่ว่าก็บอกแล้วว่ามันโง่... ไม่เชื่ออ่ะ
ก็บอกว่ามันไม่ใช่เราเห็นมั้ย...ไม่เชื่ออ่ะ
ยังไงก็เป็นเรา...ยังไงก็เป็นเรา

มันหน้าด้านมั้ยนั่น 
ไม่ต้องอ้างเหตุอ้างผล มันไม่มีเหตุไม่มีผลเลย
นี่คือจิตไม่รู้ ... นี่คือจิตหลง


ต้องลงมือปฏิบัติ...ด้วยสติ ศีล สมาธิ ปัญญา...ที่เป็นสัมมา
มันจึงจะเกิดญาณทัสสนะที่แจ่มชัด...แล้วยอมรับตามความเป็นจริง

แม้จะเห็นความจริงแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วมันจะยอมรับง่ายๆ
มันไม่ยอมหรอก...จิตน่ะ มันดื้อ ไม่ยอมง่ายๆ หรอก

เพราะอะไร
เพราะเราใช้มัน เชื่อมันมานี่ นับภพนับชาติไม่ถ้วน
อเนกชาติ ไม่ต้องรันนิ่งนัมเบอร์เลย เพราะมันรันนิ่งไม่ทัน
มันใช้อย่างนั้นน่ะมานามนมเนแล้ว

การที่จะรู้ครั้งเดียว เห็นความเป็นจริงครั้งเดียว
แล้วมันจะยอม......ไม่มีทางหรอก

ตรงนี้สำคัญ ...สำคัญยังไง
ความเพียรเราน้อย เห็นป๊อบๆ แป๊บๆ
"ไม่เอาแล้ว ..ไม่เห็นได้ผลเลย ..ผลไม่เกิดเลย"

นิสัยน่ะมันมักง่ายไง จะเอาเร็วๆ
แต่ความเพียรไม่มีอ่ะ ความต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่มี
แล้วมันจะไปลบล้างความเห็นผิด ความรู้ผิดๆ มิจฉาทิฏฐิได้อย่างไร

มันก็เลยแบบ...จิตนั่นเองแหละ ก็บอกว่า
"ไม่ทำดีกว่า ไปทำอย่างอื่นดีกว่า ปล่อยเล่น ปล่อยเพลินดีกว่า"

นั่น ถึงบอกแล้วไงว่า
โลกนี้ไม่มีหมดสิ้นไปจากสัตว์มนุษย์หรอก
ตราบใดที่มันอยู่ในอำนาจของจิตผู้ไม่รู้นี่
ไม่มีการขวนขวายดิ้นรนในองค์มรรค
ในสติ ศีล สมาธิ ปัญญา 



:09:


พระอาจารย์

แทร็ก 8/8 ช่วง 1 และ ช่วง 2


วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สรณัง คัจฉามิ ...จริง จริ๊ง ?





การภาวนาต้องจริง...เป็นเรื่องของคนจริง
เพราะธรรมเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องเล่น 

เพราะนั้นการที่จะเข้าไปถึงของจริง เห็นของจริงนี่
การปฏิบัติต้องจริง ศีลสมาธิปัญญาต้องจริง ต้องต่อเนื่อง
ต้องไม่ใช่เป็นพาร์ทไทม์หรือว่ารักเผื่อเลือก 
มันจะต้องเป็นหลัก...งานหลัก คือเรียกว่าสัมมาอาชีโว

สัมมาอาชีโวจะมั่นคงได้ก็อาศัยสัมมากัมมันโต กระทำชอบ
และมีดำริชอบ ... ต้องดำริซ้ำลงไปว่านี่คือวิถีแห่งพุทธะ
นี่คือวิถีแห่งบัณฑิต นี่คือวิถีแห่งความหลุดพ้น นี่คือวิถีแห่งความรู้แจ้ง
นี่คือวิถีแห่งการไม่กลับมาเกิด ไม่กลับมาตาย ไม่กลับมาทุกข์
ไม่กลับมารัก ไม่กลับมาชัง ไม่กลับมาชอบอีก

ต้องดำริอย่างนี้บ่อยๆ คือการงานพวกนี้จึงจะเห็นว่าเป็นหลัก
...ที่เหมือนกับลมหายใจเข้าออก...ขาดไม่ได้

 นั่นแหละ เริ่มเป็นบัวปริ่มน้ำแล้ว
แค่ตั้งสัจอธิษฐานด้วยความรู้สึกที่เป็นสัมมาว่าเป็นงานการที่ทิ้งไม่ได้ ขาดไม่ได้
ต่อไปนี่ เมื่อทำแล้วดำริเช่นนี้บ่อยๆ แล้วมีการน้อมกลับมารู้ กลับมาเห็น 
ดูกายเห็นจิต ดูจิตเห็นกาย ดูกายเห็นจิต อยู่เสมอ อยู่อย่างนี้
...มันจะสะสมกำลังไปทีละเล็กทีละน้อย

ไอ้ที่จะๆๆ จะพ้น ...เดี๋ยวก็พ้นเอง
ไม่ใช่ 'จะๆ' มาหลายชาติแล้ว 
ใกล้แล้วๆ จะเข้าใจแล้ว จะได้แล้ว...ตายซะก่อน 
มันไม่เข้าใจสักที ...เป็นอะไรวะ ไปคาอะไร

เราบอกให้มันคาอะไร...คาขี้เกียจ

พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ...ไม่เอาอ่ะ
เอาหมอน ที่นอน สรณัง คัจฉามิ๊
เอาอาหารการกิน สถานที่ท่องเที่ยว ญาติสนิทมิตรสหาย
การพูด การคุย ฮัลโหลๆ สรณัง คัจฉามิ๊
...เนี้ย มันเป็นที่พึ่งไปหมด

ก็ต้องกลับมาหาพุทธะ ธัมมะ สังฆะ ...
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ นี่แหละจึงจะเป็นที่พึ่ง 

เพราะนั้นพุทธะไม่ได้อยู่ที่ไหน ...ใจผู้รู้นี่แหละ รู้อยู่ที่ไหน รู้อยู่เสมอ 
นั่นแหละเราอยู่กับพระพุทธเจ้า เฝ้าอยู่ เสนอหน้ากับท่านอยู่ ใกล้แล้วๆ
...แม้ท่านยังไม่รับเข้าธรรมสภา แต่ว่าเฝ้าไว้ก่อน อยู่ตรงนั้นก่อน 
อบรมกาย อบรมจิต เดี๋ยวพอได้ที่ได้ทางก็จะเขยิบเข้ามา...ในใจ
ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามากขึ้นๆ

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต
ธรรมคือที่ไหน ... ธรรมคือธรรมะปัจจุบัน กับใจที่รู้ปัจจุบัน
เมื่อใดที่อยู่กับรู้กับใจกับกาย เมื่อนั้นแหละจะเห็นพระพุทธเจ้า
เข้าใจพระพุทธเจ้ามากขึ้น เข้าถึงพระพุทธเจ้ามากขึ้น
... เพราะนั้นพุทธะ ธัมมะ สังฆะ คืออยู่ที่ใจดวงนี้แหละ

แต่พวกเราพอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า...สักแป๊บนึงก็...
'ที่นอน สรณัง คัจฉามิ ๆ ...เดี๋ยวรอก่อนนะคะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยต่อนะเจ้าคะ
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลา ขอทูลลาพระองค์ก่อน' (หัวเราะ)
...ลาไปลามาก็...ตายซะก่อน  หมดเวลา...เลเวลนึง

 เพราะนั้นเมื่อเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ก็อยู่ตรงนั้นแหละ  ...ไม่ไปไม่มาที่อื่นแล้ว
นั่นแหละถึงจะจริง ถึงจะเข้าถึงพุทธะจริง
นั่นน่ะคือวิถีแห่งพุทธะ วิถีธรรม วิถีแห่งมรรค
วิถีแห่งความหลุดพ้น วิถีแห่งความรู้แจ้ง
...ท่านเรียกว่าเอกายนมรรค

ก็ไม่รู้จะตรงไหนแล้ว ...ตรงมรรคเป๊ะเช๊ะ ที่สุดแล้ว
รู้ตรงไหนพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้นแล้ว

ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าท่านตายไปไหน ไอ้นั่นน่ะรูปขันธ์ท่านตาย
พระพุทธเจ้าก็ยังมีให้เข้าเฝ้าอยู่ทุกวันน่ะ...
พุทธะก็แปลว่าผู้รู้  ผู้รู้ก็คือว่าผู้ตื่น 
ผู้ตื่นก็คือผู้เบิกบาน สะอาด สว่าง สงบ

พระพุทธเจ้ามีอยู่ที่นี้ ...จะไปหาที่ไหน
จะไปเดือดเนื้อร้อนใจทำไมว่าพระพุทธเจ้าท่านตายไปแล้ว ไม่ได้เคารพท่าน

พุทธะก็มีอยู่ตลอดเวลา  ... แต่ว่าเราเอาใจออกห่างเอง


 


คำสอน "พระอาจารย์" 

คัดลอกโดยตัดทอนมาจากแทร็ก 7/8 (ช่วง 2)






วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ถากไม้...ให้ถึงแก่น




ถากไม้...ให้ถึงแก่น




ศาสนาพุทธนี่ท่านเปรียบไว้
เหมือนว่ามี ราก แก่น เปลือก กระพี้ กิ่ง ก้าน ใบ
การที่พระพุทธเจ้าพูดถึงอริยมรรค อริยผล 
การที่พระพุทธเจ้าพูดถึงมรรคมีองค์แปด อริยสัจสี่ 
ศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติบำเพ็ญเพียรนี่ 
วกนี้คือแก่น เป็นแก่น ...พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นแก่น เป็นหลัก 

แต่คราวนี้ว่าหลักหรือแก่น  เหมือนแก่นไม้นี่ มันอยู่เองไม่ได้ 
ถ้าไม่มีเปลือก ไม่มีกระพี้ ไม่มีกิ่งก้าน ไม่มีใบ ไม่มีราก แก่นมันก็อยู่ไม่ได้

เพราะนั้นการนับถือ การทำบุญ การจัดงาน
 การสร้างพระหล่อพระ การสร้างเจดีย์ สร้างวัดวาอารามพวกนี้
มันเหมือน เปลือก กระพี้ ราก กิ่ง ก้าน ใบ ... 
แต่ว่าทั้งหมดน่ะมันมาอุ้ม มาประคับประคองหลัก...แก่นของศาสนาไว้ 
มันเกื้อหนุนกัน  ถ้าไม่มี หรือว่าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศาสนาพุทธก็อยู่ไม่ได้

เพราะนั้นว่าถ้าเข้าใจแล้ว ต่างคนต่างก็มองกันด้วยความเป็นสันติ 
ทำไปทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้คงศาสนาไว้

แต่คราวนี้ว่า คนที่ทำ...กำลังทำอะไร ก็ต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่  
เช่น กำลังทำอยู่ในแก่นก็ต้องรู้ว่าทำอยู่ในแก่น 
กำลังทำอยู่ในเปลือกกระพี้ ก็ต้องรู้ว่าอยู่ในเปลือกกระพี้ 
... ต้องเข้าใจ ให้เข้าใจอย่างนี้ก่อน 

เพื่ออะไร ...
เพื่อพัฒนาให้มันเป็นไปเพื่อหลักสูงสุดที่พระพุทธเจ้าวางหลักไว้
ก็คือการชำระจิตให้บริสุทธิ์  ซึ่งเป็น...สาระสูงสุดที่พระพุทธเจ้าต้องการ 

สาระเบื้องต้นก็คือ ทำบุญ ไม่ทำบาป ...
ไม่ทำบาปแล้วก็ทำบุญ ..นี่คือสาระเบื้องต้น 
แต่ว่าสาระที่พระพุทธเจ้าบอกว่า 
ถ้าไม่อยากมาทำบุญ ละบาปอีก...ก็อย่ามาเกิด ... 
นี่ คือการชำระจิต 
อันนี้คือเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าต้องการที่สุด...
นั่นแหละคือหลัก หรือแก่น

และถ้าเข้าใจว่าตัวเองยังอยู่ในลักษณะของเปลือก กระพี้ ใบ อยู่  
ก็อย่างน้อยชะโงกหัวเข้ามาหน่อย ให้ถึงแก่นหน่อย  
แม้จะยาก แต่ต้องทำ ต้องฝึก ต้องไม่ให้ละเลยหลงลืมแก่น  
ไม่งั้นมันจะไปมัวเมาลุ่มหลง
อยู่กับสิ่งที่มันยังเป็นแค่เปลือกหรือกระพี้ 
คือมันละเลยหลงลืมแก่นไปเลย 

ซึ่งต่อไปนี่ แก่นมันจะเหลือนิดเดียว ... 
เลยพุทธชยันตีนี่ไป แก่นมันจะน้อยลงๆ  
แต่เปลือกกระพี้นี่มันจะกว้างใหญ่ขึ้น 
มากขึ้น จนหาแก่นแทบจะไม่เจอน่ะ
 ... เนี่ยสำคัญ สำคัญตรงนี้




จาก "คำสอน พระอาจารย์" 
แผ่น 8 แทร็ก 8/8



วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

ดัด...จริต






ดัด...จริต


โยม –   คือแต่ก่อนตอนหนูนั่งสมาธิครั้งแรกๆ มันก็เงียบนิ่งไป มันก็อะไรไป  แต่ทุกวันนี้มันก็ไม่มีที่ว่าเราจะมีความนิ่งได้ขนาดนั้นเลย  เพราะว่าเรา...เดี๋ยวมันก็หลงคิด เราก็ไปรู้ว่าเราหลงคิด แป๊บเดียวเราก็หลงไปคิดๆๆ ตลอด ทั้งวันทั้งคืนเลยน่ะค่ะหลวงพ่อ

อย่างนี้มันก็ไม่มีโอกาสให้เราได้สงบเลย ทั้งๆ ที่ว่าเราก็ยังอยากสงบอยู่เหมือนกัน อย่างนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –   อือ ... แล้วทำไม แล้วมีปัญหาอะไรกับมัน 


โยม –   ก็มีปัญหาว่ามันจะไม่มีวันสงบเลยเหรอคะ อย่างแต่ก่อนที่มันได้สงบ  

พระอาจารย์ –  ใช่ ... เพราะจิตไม่เคยหยุดนิ่งเลย ... ธรรมชาติของจิตที่แท้จริงไม่เคยหยุดนิ่ง  


โยม –   อ้อ เราก็ไม่ควรสงบเอาอะไรเนาะ   

พระอาจารย์ –   ก็นั่นน่ะสิ  ...ก็เราถูกปลูกฝังมาเองว่าความสงบถูกต้อง ความสงบดี ... นี่มันเป็นการเข้าไปควบคุมจิตในลักษณะหนึ่งสภาวะหนึ่งเท่านั้นเอง...ได้ชั่วคราว ไปขัดขืนธรรมชาติของจิตได้ชั่วคราว แค่นั้นเอง

พระพุทธเจ้าถึงบอกเป็นแค่หินทับหญ้า ...หญ้านี่มันไม่เคยหยุดการเติบโต เฉกเช่นเดียวกันกับจิตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ถ้าเราไม่เข้าใจเมื่อไหร่นี่ เห็นมั้ย เราจะมีปัญหากับความไหวของจิต ใช่ป่าว  เพราะเราไปคิดว่าต้องหยุดไหวถึงจะดี...ดีกว่าไม่ไหว


โยม –   คือมันไหวแบบเยอะมาก จนหนูเหนื่อยไปหมดเลยน่ะค่ะ ...ก็รู้ว่ามันไม่พอใจจริงๆ น่ะค่ะ ...ก็มันแบบว่า...(หัวเราะ) 

พระอาจารย์ –   มันไม่ได้ดั่งใจ


โยม –  ก็มันจะมีตัวล่าสุดเนี่ยค่ะ ที่หนูต้องมาหาหลวงพ่อ มันกระวนกระวาย คือที่หนูรู้สึกว่ามันไม่ค่อยสงบเท่าไหร่ ...มันทำใจไม่ได้ (หัวเราะ)    

พระอาจารย์ –   โลภ ...เกิดจากความโลภมาก ไม่สันโดษในธรรม เข้าใจมั้ย  คือไม่ยินดีพอใจในสิ่งที่มีและเป็นในปัจจุบัน แล้วมีความทะยานอยาก...โดยอ้างว่า การที่ทะยานอยากออกไปน่ะ ผลของมันดีกว่านี้ ผลของมันจะดีกว่านี้ แค่นั้นเอง

แล้วก็ไปเป็นทุกข์กับที่เราคะเนเอา ...เป็นเรื่องของความปรุงของจิตทั้งนั้น แล้วเราก็เชื่อมัน ให้ค่ากับความเห็นนี้ โดยไม่ยอมทิ้งความเห็นนี้ แล้วมันก็จะฝืนกับความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ แค่นั้นเอง มันเลยไม่ลงตัว

แต่ถ้ายอมรับความเป็นจริงซะ ยังไงก็ยังงั้น มากก็มาก น้อยก็น้อย แรงก็แรง เบาก็เบา ขอให้รู้..บอกแล้วไง ขอให้รู้ เหมือนกับตาเราเห็นมันอยู่อย่างนี้  ไม่ใช่ 'เอ๊ะ นี่เรารู้ป่าว ...เอ บางทีเราก็ว่าเราเห็น'  อย่างนี้ แปลว่าไม่เห็นแล้ว เข้าใจมั้ย ไม่มีสติในขณะนั้นแล้ว

ต้องรู้ในขณะนั้น รู้ในขณะนั้นจริงๆ แล้วไม่ว่า...มันจะมากก็ได้ น้อยก็ได้ ไม่ว่ากัน  ...ถ้ารู้อยู่ไม่มีปัญหา ให้มันเรียนรู้ตรงๆ

สงบ-ไม่สงบนี่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก บทมันจะสงบขึ้นมานี่ไม่ต้องถามหาเลย เขาสงบโดยที่เราไม่ต้องเรียกร้องด้วยซ้ำ มันจะวาง...เวลาบทที่มันจะวางหรือว่าคลายจากอารมณ์นี่ หรือว่าเกิดจิตที่มันต้องการการพักตัวของมันนี่ เขาจะเป็นไปของเขาเองเลย ...ไม่ได้เกิดจากความอยากหรือไม่อยากของเรา 


โยม –   อย่างนี้มันเหมือนที่เขาคุยกันว่า “ติดดี” ใช่ไหมคะ พอเริ่มภาวนาได้นิดนึงก็ “กระแดะ” คืออยากสงบอะไรประมาณอย่างนี้ (หัวเราะ) 

พระอาจารย์ –   ไม่ได้เรียกว่ากระแดะ เขาเรียกว่า “ดัดจริต” เข้าใจมั้ย ... เข้าใจคำว่า “ดัดจริต” มั้ย ... จริตของเรานี่มันมีอยู่แล้ว ไอ้ความที่ทุกคนมันมีอยู่...ธรรมชาติของจิตมันเป็นจริต ...จริตของมันมีอยู่แล้ว อย่างนี้ ก็คือจริตของจิต เข้าใจมั้ย

จะไปทางนี้หรือจะไปทางโน้น จะมากขึ้นหรือจะน้อย หรือจะฟุ้ง มันเป็นธรรมดาของมันอยู่แล้ว ...แต่เราไม่พอใจจริตนี้ ก็เลยไปดัดมัน  นั่นแหละเราถึงเรียกว่าดัดจริต ไปดัดจริตของจิต เข้าใจมั้ย ไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขจริต เห็นรึยัง โดยเข้าใจว่าอย่างนี้ถึงจะดีกว่า 

อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง โดยเข้าใจว่าเป็นธรรม ...ถ้าไม่ดัดมันถ้าไม่แก้มัน ถ้ามันไม่อยู่อย่างนี้แปลว่าไม่ใช่  อย่างเนี้ย เป็นความเห็นเอาเองนะ แล้วก็ไปดิ้นรนขัดขวางจริตของจิต อย่างนี้มันไปดัดจริต ...อย่าไปดัดมัน

แต่ว่าไม่ใช่ว่าไม่ดัดมันแล้วก็ปล่อยปละละเลย เข้าใจมั้ย  ไม่ดัด...แต่ให้ดู ด้วยสติ...รู้  ขึ้นก็รู้ ลงก็รู้  มากก็รู้ น้อยก็รู้  ออกไปก็รู้ ไปทำอะไรก็รู้ อย่างนี้ ... เพราะนั้นให้กลับมารู้กับมัน โดยไม่มีเงื่อนไข แค่นั้นเอง ถึงจะเรียกว่าการเจริญสติ ...ไม่ใช่รู้แบบปล่อยปละละเลยน่ะ

หรือว่าพอมารู้ ตั้งใจรู้ เห็นมันปุ๊บ เอาแล้ว...ไม่พอใจ...อย่างนี้  แบบรู้แล้ว 'ไม่ชอบเลย ต้องทำอะไรกับมัน มันไม่ดีเลย อารมณ์อย่างนี้ไม่ดี' ... อย่างนี้ไม่ใช่  นี่เรียกว่ารู้แบบหนีความเป็นจริงของจิต เข้าใจมั้ย ... มันไม่ดีก็ไม่ดี ก็รู้กับมัน ...จะไปทำอะไรกับมันล่ะ มันควบคุมได้รึเปล่าล่ะ ก็รู้...เพื่อจะมาเห็นว่ามันควบคุมไม่ได้ 




โยม –   ก็มันกระทบอะไร แบบว่ามันก็แรง อารมณ์มันรุนแรง  ...แต่ว่ามัน..มันเยอะอ่ะ

พระอาจารย์ –  รู้ไปเหอะ ...รู้ไป  สำคัญให้รู้อยู่ เข้าใจมั้ย  จะเยอะจะน้อยไม่ว่า ขอให้รู้ ...มันสำคัญว่ามันไม่รู้น่ะสิ   มันรู้รึเปล่า...ในขณะที่มันเกิดน่ะ  เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน  ไม่ใช่ว่าคิดว่ารู้อยู่ หรือว่า 'เอ น่าจะรู้อยู่นะ' ... อย่างนี้มันยังไม่ใช่น่ะ

มันต้องรู้ต้องเห็นกันต่อหน้าต่อตาเลยน่ะ จับได้คาหนังคาเขา ประมาณนั้น ... ต้องรู้อยู่อย่างนั้น  แต่เราไม่ได้ตำหนิว่ามันมากหรือมันน้อย หรือมันบ่อยหรือมันถี่ ...แต่ให้รู้อยู่ ยังไงก็ให้รู้อยู่กับมัน ให้เห็นอยู่ ไม่เป็นไร...ไม่เป็นไร


โยม – กิเลสทุกตัวที่เรามี เราจะต้องรู้มันจนเรารู้จักมันจริงๆ เลยหรือเจ้าคะ   

พระอาจารย์ –  อือ ... ถึงจะเข้าใจกับมัน ต้องเรียนรู้กับมันทุกตัว เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจมัน ไม่เรียนรู้เท่าทันกับมันนะ เราจะเป็นทุกข์กับมันอยู่ เพราะยังไม่แจ้ง ...ดูเพื่อเรียนรู้มัน ศึกษาวิจัย


โยม –  ทุกอย่าง ?  

พระอาจารย์ –  เออ ก็บอกแล้วไง อะไรก็รู้ๆ ... รู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับมัน    





หมายเหตุ : คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
คำสอน พระอาจารย์ (แผ่น 1) แทร็ก 1/9

อ่านคำสอนบทเต็มได้ที่




วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557

พอดี...ที่ได้เสวย






พอดี...ที่ได้เสวย


พระอาจารย์ –  ถ้ามันไม่พอดี มันจะไม่เกิด  เพราะนั้น ถ้าอะไรมันเกิดขึ้นมานี่ มันพอดีแล้ว...มันจึงเกิดสิ่งนี้ อาการนี้ขึ้นมา 

แต่เวลามันเกิดแล้ว...ใจเราไม่พอดี  ใจไม่รับรู้ด้วยความเป็นกลาง แค่นั้นเอง

เพราะขณะที่มันเกิดน่ะเราไม่เท่าทันการปรุงแต่ง การให้ค่า ... แต่ตอนนี้เราไปเห็นผล  เพราะนั้นเมื่อเวลาเห็นผลเมื่อไหร่ปุ๊บ เรียกว่าเราต้องเสวยวิบากแล้ว เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นเราไม่ทันเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ... สติยังไม่ทันเหตุที่เกิดทุกข์ตัวนี้  แต่เรามาเห็นทันตอนที่เป็นผลคือเสวยวิบาก  ...ก็คือจะต้องรับผลแล้ว 

แต่เราไม่เห็นว่าเหตุแรกที่เราเข้าไปจับคือตรงไหน ...ยังไม่เห็นเหตุแรกแห่งการเกิดอุปาทานทุกข์ หรือว่าความเข้าไปหลงน่ะ


โยม –  หลวงพ่อเจ้าคะ ในขณะที่สติปัญญาเราไม่กล้ามากนี่ เราจะแยกแยะในแต่ละการกระทำว่าเป็นเหตุปัจจัยที่ประชุมมาพร้อมแล้ว หรือว่าเป็นจากความอยากนี่  มันจะแยกความอยากกับเหตุปัจจัยที่แท้จริงอย่างไร    

พระอาจารย์ –  อย่าไปแยก...นี่มันแยกด้วยความคิดน่ะ ด้วยการพิจารณา แล้วมันจะสับสนน่ะ  อย่าไปคิด อย่าไปคิดเลย  

ดูอย่างเดียว...รู้กับเห็น ด้วยสติกับสัมปชัญญะ  สติคือรู้   สัมปชัญญะคือเห็นทั่ว ...เมื่อสติกับสัมปชัญญะพัฒนาแก่กล้าขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเรียกว่าญาณทัสนะ  ญาณก็แปลว่าหยั่งรู้ ทัสนะก็แปลว่าเห็นชอบ เข้าใจมั้ย ...ก็เกิดจากการรู้และเห็นอย่างเดียวเท่านั้น

เพราะนั้นญาณทัสสนะไม่ได้เกิดจากการคิดเลย ไม่มีคำว่าคิดหรือว่าวิจารเข้ามาเกี่ยวข้องเลยนะ หรือว่าพิจารณา ไม่ได้เกี่ยวเลยนะ  พวกนี้มันเป็นแค่อุบายสำหรับเด็กหรือว่าคนที่ยังลังเลสงสัย หรือว่ายังไม่เข้าใจ หรือว่าฟุ้งซ่านมากแค่นั้นเอง 

แต่ถ้าเราเข้าใจถึงหลักแล้ว เข้าใจถึงหลักของสติหรือว่าการกำหนดรู้ทุกข์ตามความเป็นจริงแล้วนี่ ไม่ต้องย้อนกลับไปพิจารณาอะไรทั้งสิ้นน่ะ ทำให้มันสั้นที่สุด ... คำว่าสั้นที่สุดคือ รู้ตรงไหน...ละตรงนั้น  หรือว่ามีเท่าไหร่ก็รู้เท่าที่มันมี เห็นเท่าที่เห็น 

มันเห็นตอนที่เป็นวิบาก...ก็รู้  พอแล้ว เข้าใจมั้ย ... ก็เรามาเห็นตอนที่ อ้อ รับผลแล้ว  เพราะนั้นก็ต้องรับผล เสวยวิบาก ... แล้วไม่ต้องทำอะไรกับวิบากนะ ก็แค่รู้เฉยๆ  ก็เห็นว่า...เออไม่ดี ...เออดี อย่างนี้ ก็รู้  

แล้วไม่ต้องทำอะไร  อย่าไปตำหนิมัน อย่าไปคิดแก้มัน  ...มันแก้ไม่ได้แล้ว มันแก้ไม่ได้แล้วนะ ...คือผลนี่ต้องรับน่ะ ต้องกิน คุณต้องกินให้หมดน่ะ ยังไงก็ต้องกิน

เหมือนเขาตำส้มมาให้คุณกินจานนึงนี่  เขาจะตำมารสชาติไม่เป็นสัปปะรดก็ตาม หรือตำมาให้อร่อยสุดก็ตาม ... คุณต้องกินให้หมด เลือกไม่ได้แล้ว เขาตำมาแล้ว ...จะเอากลับคืนมาเป็นมะละกอ แยกคืนมาเป็นปูเค็ม น้ำปลา น้ำตาล มันแยกคืนไม่ได้แล้วนะ เข้าใจมั้ย ...มันเสียของมาแล้ว มันปรุงมาแล้วน่ะ 

คุณต้องกิน  ...ถ้าโยนทิ้ง เดี๋ยวเขาก็ต้องทำให้คุณกินใหม่ เข้าใจมั้ย  ... ก็กิน แล้วก็กล้ำกลืนฝืนทน  อร่อยก็ต้องกิน ไม่อร่อยก็ต้องกิน  อย่างนี้ ...เป็นวิบาก การเสวยวิบาก ... แล้วครั้งต่อไป มันจะไวขึ้นเอง

ไม่ใช่ได้ส้มตำมา พอกินไปคำนึง รสชาติไม่เป็นสัปปะรดเลย ... แล้วมานั่งคิดว่า 'มันจะต้องใส่ปลาร้ากี่ตัววะ หรือมันใส่น้ำปลากี่ช้อน หรือมันใส่ปลาร้าก่อน หรือมันใส่ปลาร้าทีหลัง แล้วมันตำกี่ทีวะเนี่ย' 

ถามว่า คิดเอาแล้วมันจะรู้มั้ยเนี่ย หือ มันก็ได้แต่คาดเดาเอาน่ะ  มันไม่ได้รู้จริงว่าทำไมรสชาตินี้มันถึงไม่เป็นสัปปะรด  แล้วจะเชื่อได้มั้ย  มานั่งเพ่งคิดว่ามันจะต้องตำ 5 ที มันจะต้องใส่ปลาร้าทีหลัง  ทั้งที่ความจริงอาจจะไม่ใช่อย่างนี้ก็ได้

แต่ถ้าจะรู้จริงน่ะ ...ก็กินๆ เข้าไปให้หมดจาน  เมื่อสั่งใหม่...ตอนเขาจะตำใหม่ โยมต้องวิ่งเข้าไปดูในครัว ... อย่างนี้ ไม่ต้องถาม ไม่ต้องคิดพิจารณา  ...ก็แค่ดูเขาตำ ... โยมก็จะเห็นว่า เออ ขบวนการตำส้มจานนี้เขาทำอย่างไร รสชาติมันถึงสัปปะรังเค หรือว่าอร่อยอย่างนี้ เข้าใจมั้ย 

นี่คือด้วยการเห็นและรู้ ตามความเป็นจริง...ในขณะที่เขากำลังตำ กำลังหยิบของมาใส่ ...นี่เรียกว่าเห็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว เข้าใจมั้ย

ไอ้ตำส้มจานนี้คือวิบาก คือผล ...เพราะนั้นเมื่อมาทันตอนวิบาก เขาตำเสร็จมาแล้วนี่ ...ยังไงๆ ไม่มีทางเห็นเหตุหรอก


โยม –   ต้องรับวิบาก 

พระอาจารย์ –   ต้องรับลูกเดียว แล้วก็คอยสังเกตใหม่ ... ไม่ต้องกลัวไม่เห็น เข้าใจมั้ย มันซ้ำซากอยู่นั่นแหละ บอกให้  อย่าไปกลัวช้า อย่าไปกลัวไม่เข้าใจ อย่าไปกลัวว่าจะไม่มีปัญญา ... อารมณ์ไหนความทุกข์ไหนที่ยังไม่แจ้ง มันจะซ้ำอยู่นั่นแหละ ให้กลับมาเรียนรู้ใหม่

ติดในเรื่องกาม เดี๋ยวมันก็ซ้ำอยู่ในเรื่องนั้นแหละ ให้มารู้ใหม่ อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่รู้กับมัน  ติดในเรื่องความโกรธ เดี๋ยวมันก็ต้องมีผัสสะมากระทบให้เราต้องโกรธ อยู่นั่นแหละ ขยันรู้เข้าไปเถอะ

แล้วจะเห็นว่า ...อ้อ จับขโมยได้แล้ว ..อ้อ ตอนนี้เอง ...อ้อ ตอนนี้เอง เราเข้าไปมีอุปาทานตอนนี้ เราเข้าไปหมายมั่นเอาตอนนี้ แค่นั้นเอง  

ด้วยการรู้กับเห็น เนืองๆ สม่ำเสมอ บ่อยๆ อย่าเบื่อ อย่าท้อถอย  จะเกิดกี่ครั้ง ร้อยครั้ง ก็ต้องรู้ร้อยครั้ง  รู้บ่อยๆ เดี๋ยวมันจะแจ้งขึ้นมาเอง ...



หมายเหตุ : คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
คำสอน "พระอาจารย์" แผ่น 1 แทร็ก 1/8
อ่านคำสอนบทเต็มได้ที่