วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"เป๊ะ"...ไม่เวอร์

ขอบคุณภาพประกอบ the blue acrobats photography



กาย-ใจ...ให้พอดีกัน 

ถ้าไม่พอดี..ส่วนที่ไม่พอดีนั่นน่ะคือส่วนที่ปรุงแต่ง 
เหมือนขันธ์นี่ ขันธ์มันมีพอดีอยู่เท่านี้ ... เท่ากับปัจจุบัน 

ถ้าขันธ์ที่เกินจากปัจจุบันกายปัจจุบันจิตตรงที่รู้อยู่เห็นอยู่ตรงนี้ 
พวกนี้เป็นอุปาทานขันธ์ทั้งหมด หรือว่าเป็นขันธ์หลอก 
ขันธ์ปลอม ขันธ์ไม่จริง เป็นขันธ์ที่ไม่มีสาระแก่นสาร 

แล้วถ้าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิที่ตั้งมั่นรู้อยู่กับปัจจุบัน 
พวกเรามักจะหลง เผลอเพลินไปกับมัน 
เข้าไปมี เข้าไปเป็น เข้าไปหมายมั่น 

แล้วก็เกิดความหลงผิดจริงจัง 
คิดว่าตัวนั้นเป็นตัวตนที่แท้จริง 
เป็นตัวเรา มีความเป็นเรา ความเป็นของเรา 
มันก็ไปเป็นทุกข์เป็นสุข มีสุขทุกข์ล่วงหน้าเกิดขึ้น

เพราะนั้นน่ะ การที่จะอยู่กับปัจจุบัน รู้เห็นปัจจุบัน มีการสอดส่องอยู่เสมอ 
นี่เขาเรียกว่ามีการพิจารณาธรรม ใคร่ครวญธรรมอยู่เสมอ 

อะไรมันเกิดขึ้นมา อะไรมันปรากฏขึ้นมา 
ก็อย่าไปตื่นเต้นตกใจ หรือว่าดีใจเสียใจอะไร

ให้ใคร่ครวญด้วยความแยบคายว่าธรรมนี้คืออะไร 
จริงหรือปลอม ใช่หรือไม่ใช่ เกินหรือขาด 

ถ้ามันไม่ใช่ มันก็ต้องมาเทียบเคียงดู
กับปัจจุบันขันธ์ที่ปรากฏ ยืน เดิน นั่ง นอน เท่านี้

นอกนั้นละได้ละไป อย่าไปจริงจังกับมัน 
ก็จะเห็นว่ามันเป็นขันธ์ที่เป็นอุปาทานขันธ์ 
เป็นขันธ์ไม่จริง ขันธ์ที่จะก่อให้เกิดทุกข์ อุปาทานทุกข์ 
ขันธ์ที่เกิดความต่อเนื่องไม่จบไม่สิ้น ขันธ์ที่ไม่มีวันจบ 

ก็มาอยู่กับขันธ์ปัจจุบัน แล้วก็รู้อยู่เห็นอยู่ 
ยืนเดินนั่งนอน เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ดับ

แล้วก็มาเรียนรู้ปัจจุบันธรรมปัจจุบันขันธ์ 
มันก็เห็นปัจจุบันนั้นเป็นขันธ์แค่ชั่วคราว 

เห็นความเป็นชั่วคราว แล้วก็หายไป เกิดใหม่แล้วก็หายไป 
ตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง ตั้งอยู่บนความเป็นกลาง 
ตั้งอยู่บนความเป็นปกติ ตั้งอยู่บนความเป็นธรรมดา 

คือมันไม่ใช่ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอะไร 
เหมือนกับเป็นซากขันธ์ อยู่กับซากขันธ์ที่แท้จริง

ส่วนอาการที่เป็นนามธรรม นามขันธ์ 
ถ้าจำเป็นต้องใช้ ต้องคิดต้องปรุง 
ก็ใช้ไปจบไป เป็นเรื่องๆๆ ไป

ถ้าไม่มีอะไร ไม่จำเป็นต้องคิด ไม่จำเป็นต้องปรุง
ก็ไม่ต้องปรุง ก็ละ ก็วาง ก็ปล่อย 
ก็แค่รู้ว่า ..เออ มันคิด ..อ้อ มันปรุง แค่นั้น 
อย่าไปสนใจ อย่าไปจริงจัง อย่าไปหา 
หรือว่า ให้ความคิดมันพาไปหาอะไร
คือไม่ตามใจมัน ไม่ตามมันไป ไม่ตามอารมณ์ 
ไม่ตามความอยาก ไม่ตามความไม่อยากออกไป 

ใจมันจะต้องตั้งมั่นเข้มแข็ง
ถ้าใจอ่อน ใจไหว ใจอ่อนแอนี่ 
มันมักจะตกลงไปในกระแสความปรุงแต่ง 
กระแสโลก กระแสผัสสะ ซึ่งมันจะมีอยู่ตลอดเวลา 

ถ้าไม่มั่นคงหรือว่าไม่เอาจริง
ในการที่กลับมาตั้งอยู่ในฐานกายใจ รู้อยู่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ขณะนี้นี่ 
ในโลก...ที่เราทำงานอยู่...ที่เราสัมผัสสัมพันธ์กับผู้คนอยู่ 
ยังไงๆ มันจะเป็นช่องทางออกอยู่ตลอดเวลา 
ไหล เลื่อนลอยออกไป ตามรูปเสียงกลิ่นรส 
ตามความอยากนิดๆ หน่อยๆ 

ไอ้เริ่มจากนิดๆ หน่อยๆ นี่ 
เดี๋ยวมันจะยืดยาวไปเลยแหละ 
บางที ..เฮ้ย ไม่เป็นไรหรอกๆ ปล่อยมันไป
ปล่อยมันไป ไม่เป็นไร ไม่ต้องดูไม่ต้องจริง
เดี๋ยวมันจะก่อร่างสร้างฐานเป็นความหลง
มันลาก ดึงกลับยากแล้ว

พอกลับมามีสติจะระลึกรู้ปุ๊บ 
มันเหมือนกับกระแสน้ำหลากน่ะ 
พอเป็นกระแสน้ำหลากแล้วเราไปยืนอยู่ตรงนั้น...น้ำเชี่ยวน่ะ 
เราก็เหมือนกับใบไม้ลอยอยู่ในกระแสน้ำเชี่ยวน่ะ 
มันไม่มีทางตั้งหลักตั้งฐานได้เลย 

แต่ถ้าเราไม่ประมาท ไม่เลินเล่อ 
แล้วก็รู้อยู่เสมอ รู้อยู่เนืองๆ รู้อยู่เป็นนิจ 
ไม่ว่านิดไม่ว่าหน่อย ไม่ว่ามันจะเคลื่อน ไม่ว่ามันจะขยับ 
นิดนึงก็รู้ นิดหน่อยก็เอา กลับมารู้ไว้ ตั้งไว้ 
ไม่มีอะไรก็ต้องรู้ ไม่มีอารมณ์ก็ต้องรู้ 
ก็มารู้กายเป็นฐานไว้ 

เนี่ย ใจมันจะเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ 
สมาธิมันจะตั้งมั่น มั่นคง ไม่หวั่นไหว
ยิ่งไม่หวั่นไหวเท่าไหร่ มันจะยิ่งเห็นชัดเจน
ในความเป็นไตรลักษณ์มากขึ้นเท่านั้นเอง 

ไม่ต้องไปหาความเป็นไตรลักษณ์หรอก 
ขอให้จิตตั้งมั่นเถอะ มันเห็นเอง 
เห็นอาการผ่านไปผ่านมา ไหลไปไหลมา 
เห็นอาการที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา 
มันเป็นอาการอะไรอย่างหนึ่งแค่นั้นเอง 
วูบวาบๆ ผ่านไปผ่านมาแค่นั้นเอง 
มันจะดำรงความเป็นกลางอยู่อย่างนั้น ด้วยใจที่ตั้งมั่น 
รู้อยู่เห็นอยู่อย่างเดียวนั่นแหละเป็นหลัก

เพราะนั้นสมาธิสำคัญ ...ถ้าไม่ตั้งมั่น ถ้าไม่เข้มแข็งนี่ 
จะถูกกระแสโลกกระแสขันธ์เนี่ย พัดพาไป
ไปตามกระแสที่เกิดอาการที่เรียกว่า หมุนวน” 
วนไปหาทุกข์ แล้วก็จมดิ่งลงไปในกองทุกข์ เร่าร้อน ขุ่นมัว 
ถึงไม่ทุกข์เป็นก้อนเป็นกำก็เศร้าหมอง ขุ่นมัว 
เกิดความไม่ชัดเจนในสิ่งใดเลย 
มันเกิดความละล้าละลัง ไม่ชัดเจน ไม่แน่ใจ 

นั่นแหละคือความเศร้าหมอง เป็นมลทิน 


คำสอน "พระอาจารย์"
(แผ่น 7) แทร็ก 7/1




(หมายเหตุ : มีบทที่ทำต่อเนื่องจากในแทร็กเดียวกันนี้
อ่านต่อได้ที่บท

"หมู"...รึเปล่า?
http://ngankhamsorn.blogspot.com/2017/01/blog-post_6.html