วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

โยกเยก...เอย




แล้วทุกวัน...พวกเราหมดเวลาไปกับอะไร
กับจิตที่มันแตกกระสานซ่านกระเซ็นไป ไขว่คว้าค้นควานไป 

กับสุขกับทุกข์ กับเรื่องเลื่อนๆ ลอยๆ ฉาบทา


 ได้สุขมา...เหมือนได้ทุกข์ ...เพราะได้ของที่มันต้องเสีย  

ถ้าได้สุขมาก...ก็เสียมาก รับไว้เลย  
ถ้าได้สุขน้อยก็ต้องเตรียมรับกับสุขน้อยที่จะเสียไป...ทุกข์ก็น้อย  
ถ้าเมื่อใดที่ได้สุขมาก...รอรับได้เลย ทุกข์ก็จะมาก 
เพราะมันจะเสียไป มันจะหมด มันจะสูญ

เพราะนั้น อยู่กับไม่มีสุขไม่มีทุกข์ 
ก็ไม่มีคำว่าสูญเสีย ไม่มีเราผู้สูญเสีย 

แต่ถ้าได้สุขหรือได้ทุกข์ ก็จะต้องมีการสูญเสีย...มีเราผู้สูญเสีย 
เป็นทุกข์อยู่เสมอ เป็นทุกข์ประจำเลยในสุขและทุกข์

ท่านจึงบอกว่าสุข-ทุกข์นี่ เหมือนหัวค้อนกับปลายค้อนน่ะ 
มันอันเดียวกัน แล้วแต่จะพลิกใช้ยังไง 
แต่มันก็คืออันเดียวกัน คือก้อนทุกข์กองหนึ่ง

ถ้ามันไม่มีปัญญา หรือมันไม่กลับมารู้ กลับมาดู 
กลับมาเห็น ด้วยความเป็นกลาง ตั้งใจ ใส่ใจ 
มันไม่เห็นหรอกว่า 
ในสุข...เป็นทุกข์อย่างไร 
ในทุกข์...เป็นทุกข์อย่างไร 

มันก็ไม่หยุดค้นหาสุข 
มันก็ไม่หยุดค้นหาความจะได้สุขอย่างไรดี
ด้วยการเห็น ด้วยการได้ยิน ด้วยการหา 
ด้วยการทำ ด้วยการพูด ด้วยการไป-มาในที่ต่างๆ 
จิตมันก็ไม่หยุดง่ายๆ หรอก

ไอ้จิตที่มันไปนี่ มันไปหาภพสุข แสวงหาสุข สุขที่ยังมาไม่ถึง 
แล้วมันมาเทียบกับกายปัจจุบันที่มันนั่งอยู่นี่ 
มันไม่สุข มันไม่มีสุข ...มันหึ่มๆ กายตรงนี้มันหึ่มๆ 

รู้จักหึ่มๆ ไหม ...ใกล้ๆ จะสุกแต่ไม่สุก  
เรียกว่าหึ่มๆ ห่ามๆ อย่างนี้ ...ซึ่งมันไม่มีรสชาติ
ที่มันจะว่าอร่อยหรือว่าแย่ก็ไม่ใช่ ...มันหึ่มๆ กายนี่

เพราะนั้นจิตมันก็จะถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของอวิชชา
ที่มันจะแตกออกไปหาสุข ด้วยการคิดนึกปรุงแต่ง เพ้อเจ้อ เลื่อนลอย

เลื่อนลอยก็เป็นความสุขหนึ่งของมันแล้ว
แค่เลื่อนลอย...ก็บอกว่าสบายดี ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องทำอะไร 
ศีลไม่ต้องไปเอา สมาธิไม่ต้องไปทำ ...ก็สบายแล้ว 
มีความสุขแล้ว มีความสุขเล็กๆ เกิดขึ้นแล้วกู

พอให้ออกจากความสุขนั้นๆ ก็เสียดาย 

นี่ มันติดๆ ...มันเหมือนยาเสพติด 
นี่เขาเรียกว่าอามิส เป็นอามิสสุข 

มันก็ติด ติดสุข ติดอามิสในสุข ติดการกระทำ 
ติดในการที่จะมีสุขเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัย 

มันมีความติดข้อง
 



หมายเหตุ  :  คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
คำสอน "พระอาจารย์"
(แผ่น 12)  แทร็ก 12/19  ช่วง 2




วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559

ทวน...ยถา


(ภาพ..."น้ำปิง" ช่วง...ขึ้นเชียงดาว)





พระอาจารย์ –  ถ้าจะปล่อยให้ไปตามอำนาจกรรม หรือว่าโทษเรื่องของกรรมอย่างเดียวนี่ ...ก็เรียกว่าใช้ชีวิตไปตามยถากรรม

ไปตามยถากรรมยังไง ...เคยเห็นผักตบชวามันลอยตามน้ำมั้ย แล้วน้ำมันจะพัดขึ้นฝั่งไหนล่ะ รู้มั้ย...ไม่รู้

ก็แล้วแต่ว่าน้ำมันจะขึ้นหรือลงน่ะ แล้ววันนี้จะแรงหรือเบาล่ะ แล้วมันจะขึ้นฝั่งไหน นี่  ใครจะไปรู้ ผักตบกอนี้  แล้วแต่อำนาจของกระแสน้ำ ...เอ้า นี่เขาเรียกว่ายถากรรม

เพราะนั้น กุศลจะพัดพาไปยังไง อกุศลจะพัดพาไปยังไง ก็อย่างนั้นน่ะ เลือกไม่ได้ ...ก็ปล่อยไปตามยถากรรม แล้วก็ขึ้น-ลงๆ ไปตามกระแสน้ำมันจะพัดพาไป ...อยู่อย่างนี้ ไม่ไปไหนหรอก


แต่ถ้าตั้งใจภาวนาแล้วนี่ มันจะอยู่เหนือกรรม ไม่ใช่ไปตามยถากรรม ...คือมันสามารถที่จะควบคุมกรรม การกำหนดวิถีกรรม หรือว่าหยุดการกระทำสร้างกรรม

พอมันหยุดการกระทำหรือว่าหยุดการสร้างกรรมแล้วนี่ มันจะไม่เป็นไปตามยถากรรมแล้ว ...มันเหนือ...มันเหนือบุญเหนือบาป มันเหนืออำนาจบุญอำนาจบาปจะชักลากไปแล้ว

นี่ เขาเรียกว่ามันทวนกระแสน้ำได้ ทวนกระแสกรรม...เหมือนทวนกระแสกรรม ...แล้วมันก็ไม่ไปสร้างกระแสของกรรมให้มันเชี่ยวกราก


ไอ้ที่มันทวนไม่ได้เพราะเรามัวแต่สร้างกระแสกรรมให้มันเชี่ยวกราก...ด้วยความไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว ด้วยการกระทำ ด้วยเจตนา ด้วยความมุ่งไปทางดีทางร้าย

ดีก็เป็นกรรม ร้ายก็เป็นกรรม ... ดีก็เป็นกุศล ร้ายก็เป็นอกุศล ...มันมีผลทั้งคู่น่ะ 

มันก็คือกระแสที่มันหลาก สร้างความแรงของกระแสน้ำ ...ถ้ายิ่งสร้างแรงขึ้นเท่าไหร่ กรรมก็ยิ่งมีกระแสแรงขึ้นเท่านั้น  ทีนี้ทวนยากแล้ว ...จะทวนยาก


อย่าไปเชื่อจิต อย่าไปเชื่อความคิดของตัวเอง ...ให้เชื่อศีล ...อยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าปัจจุบันนั้นจะระกำลำบากขนาดไหน เลือดตากระเด็นขนาดไหน ...ก็ถือตรงนั้นน่ะเป็นปัจจุบัน

เข้าใจคำว่า U-TURN มั้ย  … U-TURN ตรงนี้  อย่าไปรอ U-TURN ข้างหน้านะ 

ต้องรู้ตรงนี้ๆ ตอนนี้  ...อย่าไปรอตอนมันหายระกำลำบากแล้ว  คือไปรอ U-TURN ตอนนั้น หรือ U-TURN ตอนที่ถนนมันว่างข้างหน้านู้น ...เมื่อไหร่มันจะถึง  

แต่ตอนนี้ U-TURN มันมีตลอด

ศีลมีอยู่ตรงนี้ สมาธิก็มีอยู่ตรงนี้ ปัญญาก็เกิดอยู่ตรงนี้ 

สติก็ทำได้ตรงนี้  เข้าใจรึยัง...ไม่ใช่ว่าไปทำข้างหน้า

ธรรมเป็นเรื่องปัจจุบัน...การปฏิบัติเป็นเรื่องของปัจจุบัน
 


(หมายเหตุ  :  คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
"คำสอน...พระอาจารย์"
แผ่น 11  แทร็ก 11/22



วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

สบาย...สบาย



อย่าเบื่อ อย่าท้อ ในการที่จะรู้เพียงแค่สิ่งเดียวกายเดียว ...แม้ว่าความรู้สึกมันอึดอัด มันคับ มันข้องขึ้นมา ...นั่นแหละ ถือว่าเป็นการแผดเผากิเลส 

มันเป็นตบะ...ที่มันเข้าไปแผดเผากิเลสให้เกิดความเร่าร้อนรุ่มร้อนในการที่จะทะยานไป ทะยานหา...ความรู้ก็ตาม เรื่องราวก็ตาม ความสนุกเผลอเพลินก็ตาม 

แล้วมันไม่ได้ไป มันถูกจำกัดให้รู้อยู่เห็นอยู่จำเพาะกายจำเพาะจิตเดียวรู้เดียว มันก็มีความเร่าร้อนภายในเป็นธรรมดา ...แต่ให้ถือว่ามันเหมือนกับเป็นการแผดเผากิเลสภายใน
 

ต้องภาวนาไม่ท้อถอย ...การละทุกข์ การออกจากทุกข์ การเหนือทุกข์ ยังไงมันก็ต้องทุกข์ ...ไม่มีหรอกภาวนาชาติไหนภพไหนที่มันจะไม่มีทุกข์ ไม่เกิดทุกข์ในการภาวนา 

ถึงบอกว่า “ขันติ” นี่สำคัญ ...ทนอย่างเดียว ...ให้มันตายไปเลย ให้มันเครียดจนตายไปเลย...ถ้ามันจะไม่พูด ถ้าจะไม่ต้องไปปรับทุกข์ให้ใคร ไม่ไปบ่นไปจ่มกับใคร 

ให้มันตายไปพร้อมกับความอยากนั่นน่ะ ...ดูซิ มันจะอยู่ได้มั้ย มันจะทานอำนาจของศีลสมาธิปัญญาได้มั้ย...กิเลสน่ะ มันแน่กว่ามั้ยล่ะ ...ใครมันจะแน่กว่า

อย่าตกเบี้ยล่างของมัน อย่าให้มันมานั่งขี่คอ นอนขี่คอ คอยชี้ คอยกำกับ คอยบงการ ...ไอ้ตัวกิเลสตัวใหญ่ก็คือหน้าเหมือนเราน่ะแหละ ...นั่นแหละ "เรา" นั่นแหละ (หัวเราะกัน) 

ไม่ต้องไปหาที่อื่นเลย โคตรกิเลสเลย...เรานั่นแหละ ...อย่าไปฟัง อย่าให้มันขี่คอชี้นำ ชี้นกก็ต้องเป็นนก ชี้ไม้ก็ต้องเป็นไม้ ชี้นกก็ให้เป็นไม้ ชี้ไม้ก็ให้เป็นนก มันชี้มันสั่งได้หมดเลย

ต้องเอาศีลสมาธิปัญญาเข้าไปแก้มัน ให้ศีลสมาธิปัญญามันเหนือกว่า ให้มันมีอำนาจเหนือกว่ากิเลสหรือความเป็นเรา ความอยากของเรา ความไม่อยากของเรา

ตราบใดที่ยังไม่ได้เข้าสู่โคตรภู ยังไงๆ ก็ยืนเดินนั่งนอนอยู่กับ "เรา" กันนั่นแหละ มันไม่หายไปไหนหรอก ...ก็ต้องทนกับมันไป 

มันก็คอยแสดงอาการ อย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น อย่างนู้น ตลอดเวลาอยู่ ...มันบงการอยู่ภายในจิตนั่นแหละ สร้างเรื่องสร้างราวเสมือนจริงเป็นจริง อยู่ในจิตนั่นแหละ

ถึงบอกว่าอย่าไปฟังมัน เดี๋ยว "เรา" มันก็ค่อยๆ หงอยเหงาไปเองน่ะ  เห็นมั้ย เวลาไปอยู่คนเดียวแล้วมันรู้สึกเหงา มันหงอย มันจะตายแล้วนั่นน่ะ...“เรา” จะตายแล้ว นั่น ที่รู้สึกว่าเราจะตายแล้ว มันเหงา

นี่ก็กลัวมันตายอีกต่างหาก ก็เลยไปหาอาหารการกินให้มัน...ด้วยการคุยๆๆๆ ... “เรา” ก็สดชื่นขึ้นมาเลย มีความสดชื่นเบิกบานอยู่ภายใน “เรา”  

ไม่ใช่เบิกบานในใจนะ ไม่ใช่เบิกบานด้วยผู้รู้ผู้เห็นนะ ...แต่มันเบิกบานใน “เรา” 

เพราะได้คุยแล้ว ได้เที่ยวแล้ว ได้ปรับทุกข์ ได้กระจายความทุกข์ให้คนอื่นเขารับรู้ ...เพื่อให้เขามายอมรับว่าเราทุกข์จริงๆ มีเพื่อนร่วมทุกข์ มีสุขร่วมเสพแล้ว สดชื่น สบายใจ 

มันก็ว่า "เราสบายใจ" ...แต่จริงๆ ใจเขาไม่เคยสบายหรือไม่สบายหรอก ... มันสบาย “กู” (หัวเราะกัน) สบาย “เรา” ต่างหาก เนี่ย  มันเป็นอย่างนั้นกัน

จริงๆ แล้ว ใจไม่มีคำว่าสบายหรือไม่สบาย ... มีแต่รู้กับเห็น 

ใจไม่เคยเป็นทุกข์ ... แล้วใจก็ไม่เคยเป็นสุข 

ที่ว่าสุขว่าทุกข์ ที่สบาย ... นั่นน่ะ "เรา" นะ




หมายเหตุ : คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
"คำสอน พระอาจารย์" แผ่น 11 แทร็ก 11/18