วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

"ผม" บัง(ภู)เขา ... "เรา" บังความจริง





พระอาจารย์    ธรรมะ...มันเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว มันไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรมากมายหรอก ...มันเป็นอะไรที่มีอยู่แล้ว เป็นของที่มันมีอยู่แล้ว แสดงอยู่แล้ว...ตลอดเวลา

เพียงแต่ "เรา" ไปตีความ ...มันมี เราไปคอยตีความธรรม ไปตีความธรรมชาติ...ให้มันลึกล้ำบ้าง ให้มันซับซ้อนขึ้นไปบ้างเท่านั้นเอง

มันจึงเกิดความสับสนในภาษา ในความหมาย ...ความหมายในธรรมมันจึงบิดเบือนไปหมด...มันจะเกิดความบิดเบือนโดยสังขาร โดยบัญญัติ โดยสมมุติภาษา
…..

ชื่อของธรรมนี่ ชื่อเขาก็บอกแล้วว่า...ธรรมดา  ธรรมะก็คือธรรมดา ...มันไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่หรือเกินมนุษย์ปุถุชนจะล่วงรู้ถึงหรือเข้าถึงได้

เพราะนั้นการปฏิบัติธรรมของพวกเรา มันจึงเป็นการปฏิบัติเลยธรรม เกินธรรมไปหมด...ด้วยการที่มันทำเกิน เพื่อจะไปหาธรรมที่มันเกินจริง เกินจากสภาพที่แท้จริงของธรรมไป

นี่คือความที่มันไม่ตรงต่อธรรม ...การปฏิบัติจึงเรียกว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ตรงต่อศีลสมาธิปัญญา...ไม่ตรงต่อธรรม
….. 

ถ้ามีปัญญามันก็จะเข้าใจเองว่า ความรู้ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน คืออะไร

ถ้ามันไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างนี้ แล้วเวลามันเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรที่เป็นภาษาบัญญัติขึ้นมานี่...แล้วมันจะติด มันจะเข้าไปติด ...แล้วมันไม่ยอมทิ้ง

มันจะเก็บสะสมความรู้ความเข้าใจโดยบัญญัติสมมุติเหล่านี้เป็นสมบัติติดเนื้อติดตัวไปอย่างนี้ ...ไอ้นี่ก็โง่ จะหลงอีก หลงธรรมอีก หลงบัญญัติธรรมอีก

ทีนี้พอยืนเดินนั่งนอน นั่งสมาธิ เดินจงกรม มันก็ไปเฝ้ารอให้เกิดบัญญัติธรรมอย่างนี้ ...ถ้ามันไม่เกิดขึ้นมา มันก็ว่าไม่ได้ผล เข้าใจมั้ย ...เนี่ย เขาเรียกว่าติด อย่างนี้นี่โง่

แต่ถ้าเข้าใจแล้ว มันก็...เออ ผ่านไป  แล้วก็ทำหน้าที่ภาวนาไป โดยที่ไม่ไปคาดไม่ไปหมาย ไม่ไปรอไอ้ปัญญาแบบเป็นภาษาธรรม เป็นประโยคธรรมอะไรขึ้นมา เป็นวลีธรรมอะไรขึ้นมา


เพราะนั้นน่ะ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วนี่ อย่าไปสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเพิ่มอีก การอ่านธรรมบัญญัติภาษาธรรมนี่ เลิกอ่านได้แล้ว เข้าใจมั้ย ...มาอ่านใจอ่านกาย มีสองที่ให้อ่าน

อ่านกายตัวเอง...อ่านให้ออก มันเป็นตำราที่ไม่มีภาษาเขียน ...ใจก็เป็นตำราเล่มที่ไม่มีภาษาเขียน มันอ่านด้วยญาณ มันอ่านด้วยศีลสมาธิปัญญา ไม่ได้อ่านด้วยภาษา

ธรรมนี่ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยภาษาได้...ธรรมตามความเป็นจริงนี่ ไม่ได้เรียนรู้ด้วยภาษาได้...ไอ้ตัวภาษานี่ มันถือว่าเป็นสะพานเชื่อมมาเท่านั้นเอง เหมือนกับเป็นสะพานที่ทอดมาสู่ธรรมเท่านั้นเอง
  
เมื่ออาศัยสะพานที่มันทอดเชื่อมมาสู่ธรรมแล้วนี่ ต้องทิ้งสะพานแล้ว ต้องไม่ไปหวนรำลึก ต้องไม่ไปอ้างอิงหรือว่าเอาสะพานมาคอยเป็นเครื่องรองรับธรรมอยู่ตลอดเวลา ...นี่ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อน
…..

แต่ถ้าเรายังไปผูกพันอยู่กับภาษาบัญญัติอยู่ ในธรรมใดธรรมหนึ่งก็ตาม ...แล้วไปคาข้องกับภาษาธรรม

ตัวเนี้ย แทนที่มันจะเป็นสะพานเชื่อม มันกลับเป็นตัวขัดขวางธรรม เป็นตัวปิดบังธรรม เป็นที่ครอบงำธรรม เพราะนั้นตัวบัญญัตินี่มันจะเป็นตัวที่ปิดบังวิมุติ ...สมมุติกับบัญญัตินี่เป็นตัวบังวิมุติ...วิมุติธรรม


คำว่าวิมุติธรรม...คือธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง สภาพธรรมที่ปรากฏอยู่จริง โดยไม่อ้างอิงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย ...เรียกว่าเป็นธรรมล้วนๆ เรียกว่าเป็นธรรมแท้...วิมุติธรรม

เพราะนั้นการที่จะเทียบเคียง ...อันไหนเป็นวิมุติธรรม อันไหนเป็นบัญญัติธรรม อันไหนเป็นสมมุติธรรมนี่  มันจะต้องมาเริ่มเรียน...เริ่มเรียนตั้งแต่เบื้องต้น คือเริ่มเรียนกับสิ่งที่มันปรากฏอย่างชัดเจนในปัจจุบันกาย

ท่านถึงวางหลักศีลไว้เลยว่า...กายปัจจุบัน กายปกตินี่...เป็นจุดเริ่มต้นที่มันจะเป็นมาตรฐานของธรรม ...เป็นมาตรฐานของธรรม...ที่มันสามารถจับต้องได้ ชัดเจนได้ แยกแยะได้ในระดับปุถุจิต ปุถุชน
…..

ถ้าในระดับปุถุชนนี่ ท่านวางศีล...ปกติกาย ปัจจุบันกายไว้เป็นมาตรฐาน ...เพราะว่าภูมิปัญญาในระดับปุถุจิต ปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลสเนี่ย มันสามารถพอแยกแยะได้

ด้วยสติธรรมดา ด้วยสมาธิธรรมดา ด้วยปัญญาขั้นธรรมดา ...แต่เป็นธรรมดาในองค์มรรคนะ ไม่ใช่ธรรมดาในความคิดนึกปรุงแต่ง

เพราะนั้นการที่อาศัยกายเป็นเวทีประลองยุทธ์น่ะ หักล้างกันระหว่างกิเลสกับธรรม หรือหักล้างกันระหว่างบัญญัติสมมุติกับวิมุติ หรือกายวิสุทธิกับกายสมมุติ กายบัญญัติ กายสังขาร

เหล่านี้ ปุถุชนนี่ ปัญญาในระดับพื้นฐานเบื้องต้นทุกคนสามารถแยกแยะได้ หยั่งถึงได้ พอเห็นได้ พอเข้าไปถึงธรรมนี้ได้...ที่เรียกว่ากายแท้ กายตามความเป็นจริง กายปกติ กายความรู้สึกที่กำลังปรากฏอยู่

เพราะฉะนั้น เราจะต้องมาทำความชัดเจนชัดแจ้งในกองกายกองศีลนี่เป็นอันดับแรก  แล้วมันจึงจะเพิ่มหรือว่าเกิดปริมาณของศีลสมาธิปัญญาที่ลึกซึ้ง หนักแน่น มั่นคง แข็งแรงยิ่งขึ้นๆ

เพื่อไปแยกแยะความเป็นจริงในธรรมกับสมมุติธรรม...ซึ่งละเอียดกว่าธรรมที่เรียกว่ากายคือในขันธ์ ในโลก ...นี่ มันมีธรรมที่ละเอียดขึ้นไปตามลำดับลำดา 


(หมายเหตุ  :  คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
คำสอน "พระอาจารย์" (แผ่น 15) 
แทร็ก 15/15  ช่วง 1-2