วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อยู่กับโลก...อยู่กับธรรม




                                                 

 อยู่กับโลก...อยู่กับธรรม




ทั้งหมดที่จิตรับรู้น่ะ...มันเป็นธรรม 
ทั้งหมดเป็นธรรม  อะไรๆ ก็เป็นธรรม  
ตาเห็นรูปก็เป็นธรรม  หูได้ยินเสียง เสียงที่ปรากฏก็เป็นธรรม  
ใจที่คิด ความคิดก็เป็นธรรม  อารมณ์ก็เป็นธรรม  
ทุกอย่างเป็นธรรม ... ธรรมแปลว่า ความทรงอยู่

ไอ้ที่ไม่เป็นธรรมก็คือ...เราไปเดือดร้อนกับธรรม  
ดิ้นรน กระวนกระวาย กระสับกระส่าย กระเสือกกระสน ต่อต้าน รักษา หวงแหน 
พวกนี้เกินธรรม...เป็นความรู้ที่เกินธรรมที่ปรากฏ

ที่มันเดือดร้อน กระวนกระวาย กระสับกระส่ายทุกวันนี่ เพราะใจมันไม่มีปัญญา 
มันอยู่กับธรรมมันอยู่กับโลกนี่...แต่ไม่เห็นว่าเป็นธรรม ไม่ยอมรับความเป็นธรรม 
ด้วยใจที่เป็นธรรม หรือว่ายุติธรรม หรือว่าเป็นกลาง 

เพราะนั้นน่ะ...ต้องยุติกับธรรมนั้นๆ จึงจะเป็นกลาง 
ยุติคือหยุด ไม่ไปไม่มา ไม่ซ้ายไม่ขวา ไม่หน้าไม่หลัง ...ไม่เลือก 

อยู่กับมัน ... ต่อให้มันจะเป็นยังไงก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ 
ไม่ใช่ให้ความอยากหรือความไม่อยากเป็นตัวกำหนดวิถี  ไม่งั้นน่ะ...ไม่จบ

เหมือนคนพเนจรไปในโลกน่ะ สองเท้าก้าวไป มันก็เดินไปได้ในโลกนี้
ไปไหนล่ะ ...  มันก็ไปวนไปวนมาในโลก มีทางเดินมันก็ไปได้นะในโลกนี้ 
มันก็ดูเหมือนแตกต่าง ...แต่ไปไหนมันก็กลับมาที่เก่าอ่ะ โลกนี่
มันวนอยู่ มันไม่ไปไหน  ไม่มีอะไรใหม่หรอก ...สุดท้ายก็กลับมาเหมือนเดิมนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าบอกว่ามันไม่ใช่ทาง...ไม่ใช่ทางไปของพระอริยะ  
มันเป็นทางไปของสามภพ...มันก็วนอยู่นั่นแหละ 
ถ้ายังไม่ยอมหยุด...แล้วก็อยู่ในองค์มรรค

คืออยู่ด้วยความเป็นกลางกับทุกสรรพสิ่งที่ปรากฏ  
ไม่แก้ ไม่หนี ไม่เข้าไปมีปัญหา ไม่เข้าไปมีเงื่อนไขกับอะไร 
ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าบุคคล หรือว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

อยู่ด้วยปัญญา ... ถ้าอยู่ด้วยปัญญาแล้วไม่ต้องอดทน  

ถ้าไม่มีปัญญาก็ต้องอยู่ด้วยความอดทนไปก่อน...ด้วยขันติ  
จนกว่ามันเข้าใจ ฉลาดขึ้น...ว่าโลกกับธรรมมันเป็นอย่างนี้ 
เราตายไปแล้ว ... โลกก็ยังเป็นอย่างนี้  
มันไม่เปลี่ยนไปไหนหรอก ... มันแก้อะไรไม่ได้ หนีไม่ได้ด้วย

คือเป็นโลก ...เป็นอยู่อย่างนี้ มันเป็นอยู่อย่างนี้  
มันเป็นมาตั้งแต่ตั้งโลก ตั้งฟ้า ตั้งแผ่นดินมานี่ 
ความเป็นสัตว์ความเป็นบุคคลปรากฏขึ้น...
กิเลสก็อาศัยครอบครองอยู่ในสัตว์บุคคลนั้นๆ 
ก็แสดงอาการไปต่างๆ นานา ...ด้วยความไม่รู้ 

มันก็มีการเบียดเบียนกัน กระทบกระทั่งกัน 
ด้วยคำพูดวาจา กริยาอาการภายนอก ... เป็นเรื่องปกติของโลก


เรามาเกิดในช่วงนี้ ยุคนี้ สมัยนี้ ในห้าพันปีนี้...จะต้องเจอโลกที่เป็นอย่างนี้

พระพุทธเจ้าในยุคนี้สมัยนี้ ท่านเป็นปัญญาธิกะ 
ปัญญาธิกะ คือบำเพ็ญด้านปัญญาโดยตรง  

เพราะนั้นหลักธรรมที่สามารถจะอยู่ได้ในโลกยุคนี้สมัยนี้ 
คือต้องอยู่ด้วยปัญญา ด้วยความรอบรู้เข้าใจมัน...แล้วถอยห่างออกมา

ได้น้อยก็เอาน้อย ... ปัญญาน้อยก็ทำความเข้าใจกับมัน แล้วก็สะสมปัญญาไปเรื่อยๆ  
จนเห็นว่า...เหมือนกันหมดแหละ เป็นธรรมอันเดียวกัน 
เปลี่ยนที่หน้าตาตัวตน สถานที่ ... ดูเหมือนเปลี่ยน ดูเหมือนไม่ใช่ ดูเหมือนแตกต่าง  
แต่ด้วยปัญญาที่มันร้อยเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน...ก็จะเห็นเป็นธรรมอันเดียวกันหมด


พระพุทธเจ้าให้อุบายวิธีไว้แล้ว  
หลักการมี คือสติระลึกรู้ในทุกสิ่งที่ปรากฏ ... อะไรเกิดขึ้น...รู้  
ถ้าไม่รู้ล่ะมันเข้าไปแนบกัน เข้าไปเกลือกกลั้วกัน  เข้าไปมีในมัน...มันมามีอยู่ในเรา 

เพราะนั้นถ้ามีอะไรเกิดขึ้นแล้วรู้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้  
นี่ ให้อยู่ตรงนั้น...ให้อยู่ที่รู้  ให้อยู่ด้วยรู้ ...ไม่ได้อยู่ด้วยความไม่รู้  
ถ้าอยู่ด้วยความไม่รู้ มันก็โลกเต็มๆ น่ะ กลายเป็นโลกของเราไปแล้ว 
เรากับโลกเป็นอันเดียวกัน ...ก็ทุกข์สิ

เพราะนั้นจะอยู่กับโลกยังไง ...ก็อยู่ด้วยความรู้ 
อยู่กับรู้...รู้อยู่กับโลก จนกว่าจะเห็นโลกนั้นเป็นธรรม 
ธรรมคืออะไร ... ธรรมไม่มีคำพูด ธรรมคือความเป็นจริง  
ความเป็นจริงคืออะไร ... ความเป็นจริงในโลกก็คือไตรลักษณ์นั่นแหละ

จึงอยู่กับไตรลักษณ์...ด้วยความที่ว่าเป็นธรรมเดียวกัน 
ไม่มีตัว ไม่มีตน  ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล  
มีแต่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา  
คาดไม่ได้ เดาไม่ได้ หวังมันไม่ได้ พึ่งมันไม่ได้ 
อาศัยมันไม่ได้ เอามาเป็นที่ยึดที่ถือไม่ได้
ก็ต่างคนต่างอยู่ไป...มันแยกออกจากกัน





คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
"คำสอน พระอาจารย์" (แผ่น 4) แทร็ก 4/3

http://ngankhamsorn4.blogspot.com/2014/07/43.html


วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กล้ารู้...กล้ารับ







กล้ารู้...กล้ารับ




พระอาจารย์ – ...ถ้ามีสติอยู่ มันจะเป็นตัวปรับสมดุลอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว เข้าใจมั้ย  มันจะปรับให้ ไม่เกิดอาการจนเกินไป ในขณะที่รู้อยู่  ... มันจะเป็นเหมือนบังเหียนอยู่แล้ว 

แต่ไม่ใช่เกิดจากการที่เราเข้าไปกำหนดห้ามนะ ... สตินั่นแหละเป็นตัวห้ามของมันเอง ให้เกิดความพอดี  ...เป็นตัวปรับให้มันพอดี  ไม่สุดโต่งๆ  

เช่นว่า เวลาดีใจ พอรู้ว่าดีใจปุ๊บ มันจะไม่ดีใจถึงสุดๆ ... เวลารักอย่างนี้ รู้อยู่อย่างงี้ มันจะรักแบบจางๆ ... เวลาเครียดหรือโกรธก็ตาม ขณะที่รู้อยู่ มันจะไม่สุดลิ่มทิ่มประตู

แต่มันไม่ได้หมายความว่าหายไป เข้าใจมั้ย  เพราะเราไม่ได้ทำให้มันหาย...ด้วยการบังคับหรือว่าไปดับ ไปตัดมัน


โยม – แล้วถ้าเราคิดจะเลิกกับแฟนล่ะคะ

พระอาจารย์ – คิดแล้วก็ทำ ...จะเลิกก็เลิก แล้วก็ดูว่าเลิกแล้วเป็นยังไง จิตเราเป็นยังไง รู้ไป ...ไม่เลิกก็ไม่เลิก ไม่ต้องคิด ...ถ้าคิดแล้วก็ทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่ต้องคิด ... คือทำไปเถอะ ได้หมด แล้วก็ยอมรับผลทั้งหมด


โยม – จะไปก็ไป จะอยู่ก็อยู่

พระอาจารย์ – แค่นั้นแหละ ... เราไม่บอกว่าถูก เราไม่บอกว่าผิด  เราไม่บอกว่าควร เราไม่บอกว่าไม่ควร  เราไม่ห้าม เราไม่สนับสนุน ... อยากทำ...ทำ ไม่ทำก็ไม่ทำ ...ไม่ว่ากัน 

แต่ทำแล้วเป็นยังไง ไม่ทำแล้วเป็นยังไง...ต้องรู้อยู่นะ ... ทำแล้วคุณต้องรับผลนะ คุณต้องรับผลที่ว่าคุณรู้สึกยังไง...พอใจ-ไม่พอใจ  ดู...กลับมาดู


โยม – ดูตรงนั้นไปเลย

พระอาจารย์ –  ให้กลับมาดูความเป็นจริงของใจเรา ความรู้สึกของเรา แค่นั้นเอง ... แล้วก็เรียนรู้ต่อไป...ในผลของการกระทำนั้นๆ  ทำแล้วยังไง...เราต้องรู้ แค่นั้นเอง


โยม –  ควรที่จะเรียนรู้ต่อไป

พระอาจารย์ – มันไม่แค่ควรน่ะ...แต่มันต้องเรียนรู้เลยน่ะ  เพราะมันเป็นการกระทำที่ต้องส่งผลทั้งในแง่บวกและลบอยู่แล้ว เข้าใจมั้ย ... มันหนีไม่ได้ 

อย่าไปคิดมาก ถ้าคิดมากน่ะทำอะไรไม่ได้ ... จะทำก็ทำ ไม่ทำก็ไม่ทำ เอาให้มันขาดลงในปัจจุบัน  ไม่ต้องมานั่งคิดข้ามเดือนข้ามปี คิดมาก คิดไกล คิดยาว ...ทำไปเหอะ แล้วผลยังไงก็รับไป แล้วก็ดูมันไป ... เนี่ย วางลงในปัจจุบัน ง่าย สั้นๆ คิดแบบไร้สมอง ไม่ต้องคิดมาก


โยม – เราก็ต้องกล้าที่จะรับ

พระอาจารย์ – ถูกต้อง  ต้องรับน่ะ อย่าไปปฏิเสธ และอย่าไปโทษคนอื่น  ทำเอง...รับเอง คนอื่นไม่เกี่ยว  ผลอยู่ที่เรา รับเอง...วางเอง ...อยู่ตรงนั้น จิตมันจะกล้าหาญ...ในการที่จะเผชิญในการกระทำทุกอย่างโดยไม่เลือก...บวกก็ได้ ลบก็ได้ เอาดิ

อย่างนั้นแหละ ...อย่าไปเล็งผลเลิศ หรือจะเอาความเพอร์เฟ็ค...ไม่มีหรอก มันมีแค่ในความคิด ...คิดเท่าไหร่ก็เพอร์เฟ็ค  แต่ทำเข้าจริงๆ น่ะ...ดูไม่จืด บอกให้เลย  พอไปทำ มันได้อย่างนั้นน่ะดีที่สุดแล้ว แค่นั้นเอง

เพราะนั้นทำด้วยสติ ทำอะไรก็รับผล แล้วก็รู้ๆๆ ไป ... มันจะฉลาดในการจัดการวิถีของมันเองต่อไป เข้าใจมั้ย มันจะไม่กลัวอะไรในการที่จะก้าวเดิน  ท่านถึงเรียกว่าเป็นสุคโต ไปดีมาดี ...อยู่ก็ดี ไปก็ดี มาก็ดี  คือไปแบบไม่มีปัญหา ไม่กังวล ไม่วิตก

เพราะอะไร เพราะเราไม่ตั้งเป้าอะไร ไม่ต้องไปคาด ...ถ้าเลิกแล้วจะเป็นยังไง ไม่เลิกแล้วจะเป็นยังไง  เนี่ย ชักเข้าชักออกๆ ไปไม่รอด 

จะไปก็ไป จะตกเหว กูก็ตกเหววะ เอ้า ไปแล้วขึ้นสวรรค์ กูก็ขึ้นสวรรค์ อย่างนี้ ไม่ต้องคิดมาก แล้วแต่มันจะว่าไป  แล้วไม่ต้องคาดด้วยมันจะลงเหวหรือขึ้นสวรรค์  ลงเมื่อไหร่ก็รู้ ขึ้นเมื่อไหร่ก็รู้  ตรงนั้นแหละ เอาแค่ตรงนั้น  เนี่ย เขาเรียกว่ารู้แบบโง่ๆ แต่ว่าไปด้วยความมั่นใจ 

แล้วก็เรียนรู้ไป จากอาการการกระทำของเรา ศึกษามัน สำเหนียกกับมัน  แล้วต่อไปข้างหน้ามันก็จะรู้เอง ฉลาดในการเดิน...ให้มันอยู่ในครรลองของความเป็นกลาง สมดุล มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันน้อยที่สุด

แต่ตอนนี้ เพราะเราคิดไว้มาก มันจึงมีตัวเลือกหลายอย่างที่เรากังวลถึงคนอื่นหลายคน อะไรอย่างนี้ ยังวางไม่ลง หาทางออกไม่ได้แค่นั้นเอง


โยม –  ใช่

พระอาจารย์ – แต่ทำน่ะบอกแล้ว ต้องรับผลหมด...แล้วเรียนรู้กับมัน ...ไม่มีการกระทำของเราที่จะไปช่วยคนอื่นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก...ช่วยไม่ได้  

ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นทายาท ... เราไม่สามารถจะอุ้มชูหรือให้เขาเสวยวิบากได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เราก็เป็นเพียงตัวประกอบนึงเท่านั้น  ทุกคนก็ต้องยอมรับในกฎแห่งกรรมของตัวเอง ทุกคนมีกรรมเป็นเจ้าของแล้ว ไม่ใช่เพราะเราเแต่ถ่ายเดียว




หมายเหตุ : คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก "คำสอน พระอาจารย์" แผ่น 2 แทร็ก 2/3
อ่านคำสอนบทเต็มได้ที่บล็อก ... คำสอน "พระอาจารย์" (แผ่น 2)
http://ngankhamsorn2.blogspot.com/2014/07/23.html