วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

"อะไรๆ ก็พุทโธ"




พระอาจารย์ –  ยังมีอีกหลากหลายที่หลวงปู่ท่านเทศน์เรื่องของดวงจิตผู้รู้ นะ ...เวลาเพิ่นพูดถึงดวงจิตผู้รู้นี่ รับรอง เวลาฟังนี่จิตจะตื่นขึ้นมา

เขาชอบเอาไปลงกันว่าหลวงปู่สอนว่า... ภาวนาพุทโธไม่ให้ขาด ใช่ป่าว เคยได้ยินรึเปล่า ภาวนาพุทโธไม่ให้ขาด ... มันก็เลยไปพุทโธๆๆ พุทโธกันทั้งวัน


โยม –  ก็ไม่เข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  แต่คราวนี้ท่านบอกเราว่า... "ภาวนาพุทโธไม่ให้ขาด  คือหมายความว่า...อะไรๆ มันก็พุทโธ"  เข้าใจความหมายท่านไหม ...ว่าอะไรๆ ก็คือพุทโธ

คือความหมายของพุทโธในความหมายของท่านก็คือรู้...ผู้รู้ เข้าใจมั้ย  เพราะนั้นท่านบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรๆ ก็คือพุทโธ คือ...ต้องรู้

ไม่ใช่พุทโธเป็นคำพูด พ. อุ ทอ พุท  ธ. โอ โธ ...นี่ ถ้าไม่เข้าใจมันก็จะไปท่องพุทโธๆ โดยที่ไม่เข้าใจ

แต่ความหมายของท่านคือ อะไรๆ ก็พุทโธ ต้องพุทโธให้ได้ตลอดเวลา ...ความหมายของท่านคือ ต้องรู้ๆ ต้องรู้กับทุกอาการที่ผ่านมา ที่รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  

เห็นก็ต้องรู้ว่าเห็น ได้ยินก็ต้องรู้ว่าได้ยิน เดินก็รู้ว่าเดิน กังวลก็รู้ว่ากังวล คิดก็รู้ว่าคิด ฯลฯ ...เนี่ยแหละพุทโธไม่ขาดสาย คือความหมายของท่าน

แล้วก็คำเด็ด วจีเด็ด วาจาเด็ดของท่านคือ “ทุกข์ไม่ต้องบ่น อดทนเอา” (โยมหัวเราะกัน)  ...อย่ามาบ่น อย่ามาอ้อแอ้ๆ อ้างนั่นอ้างนี่ ...ทำไม่ได้ อารมณ์นั้นอารมณ์นี้เกิด จะแก้ยังไง จะทำยังไง 

ท่านบอกว่าอย่าบ่นๆ ทนเอา ทนไปจนกว่ามันจะดับไปเองน่ะ ...ดูซิ ใครจะแน่กว่าใคร 

มันจะแน่กว่าพระพุทธเจ้ารึเปล่า พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง มันดับน่ะ ...อย่ามาหาทางดับเองน่ะ เก่งกว่าพระพุทธเจ้ารึไง ศาสดาหัวแหลมน่ะ คิดว่าเราทำได้ แก้ได้หรือ...ทุกข์น่ะ

อดทนเอา เบื้องต้น ...นักภาวนา ความอดทนน้อย อยากได้เร็ว อยากให้ผ่านพ้นเร็วๆ อยากให้ข้ามเหมือนกับกระโดดค้ำถ่อเลยน่ะ ...ไม่ได้  ต้องอดทน พากเพียรไป

สมัยอยู่กับหลวงปู่นี่ อะไรๆ ที่ท่านสอน ท่านไม่ได้สอนด้วยคำพูด ท่านสอนด้วยการกระทำ ให้ทำ ... เนี่ย คือการสอนของครูบาอาจารย์ ท่านไม่สอนเป็นคำพูดหรอก แต่สอนให้เราเรียนรู้เอา  



น้อมกราบหลวงปู่ ครูบาอาจารย์


บนหนทางนัยยะที่จะหา
เสมือนว่ามีแสงส่องให้มองเห็น
เมตตาธรรมงดงามความฉ่ำเย็น
ดวงจิตเป็นผู้รู้ครูอาจารย์

ความมีอยู่นั้นมีแต่ไม่อยู่
มีในครูในศิษย์จิตรู้ผ่าน
จากมือหนึ่งสู่มือหนึ่งพึงพบพาน
มือของครูอาจารย์เป็นเช่นกัน

ละอองดาวส่องสว่างเห็นทางแล้ว
ละอองธรรมย้ำแนวทางมรรคมั่น
คำสอนนี้เพื่อปล่อยปละละถอนพลัน
วางทุกข์ขันธ์ปล่อยทิ้งทุกสิ่งไป.




ด้วยความสวัสดีปีใหม่ไทย
ขออานิสงส์ธรรมทานทั้งหลายที่ได้ตั้งใจแล้วด้วยดีเหล่านี้
ได้เป็นเครื่องยังความความสว่าง ความเจริญในธรรม 
เป็นประโยชน์แด่ทุกท่านโดยทั่วกันทุกประการเทอญ.



หมายเหตุ : 

อ่านเรื่องราวประวัดิ ปฏิปทา คำสอน 
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
ได้ที่กระทู้ "ละอองธรรม" เว็บ ลานธรรมเสวนา


"คำสอนพระอาจารย์" ...คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก แทร็ก 3/11



วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

ธรรมดา กลาง ธรรมชาติ



พระอาจารย์ –  เพราะนั้นการฝึกสติเนี่ย มันก็ดูเหมือนว่าฝึกสติเหมือนกัน  แต่ว่าสติส่วนมากที่เราฝึกกัน ไม่ว่าจะในการนั่งสมาธิ ในการเดินจงกรม ... มันจะฝึกเพื่อให้เป็นไปสู่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง 

คือมันมีเป้าหมาย ...ถ้าได้อารมณ์นั้นแล้วก็พยายามรักษาอารมณ์นั้นไว้ให้ได้นานที่สุดมากที่สุด ...สติมันจึงไม่เป็นกลางสักที สภาวะก็ไม่เป็นกลางสักที 

ถ้าสภาวะที่เป็นกลางนี่ มันจะไปๆ มาๆ  มันจะเป็นอิสระในการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไป...ตามเหตุและปัจจัย ...ไม่ใช่ตามอารมณ์เรา ไม่ใช่ตามการกระทำของเรา หรือการควบคุมของเรา...ไม่เกี่ยวกันเลย

เพราะนั้นเมื่อฝึกสติไปเรื่อยๆ...หมายถึงสติที่เป็นกลางนะ  ปั๊บเนี่ย เบื้องต้น ปัญหาแรกของคนที่เริ่มฝึกสติ แล้วเริ่มรู้จักสติที่เป็นกลางเป็น คือ...

จะเห็นตัวเองไม่ดีเลย จะเห็นจิตของเราไม่ดีเลย จะเห็นความคิดของเราไม่ดีเลย จะเห็นความสับสนวุ่นวาย ความที่ว่าไอ้นู่นไอ้นี่เป็นเรื่องเป็นราวตลอดเวลาเลย ...มันยิ่งดูยิ่งแย่ 

พูดง่ายๆ ต้องอดทนนะ ...ถ้ายิ่งดูยิ่งแย่นี่ให้รู้ไว้เลย เริ่มดีแล้ว เริ่มถูกแล้ว (หัวเราะกัน) ...แต่ถ้ายิ่งดูยิ่งดีนี่ ให้สงสัยไว้ก่อน...ให้เริ่มสงสัยไว้ก่อนว่าเข้าไปบังคับควบคุมรึเปล่า มันไปปิดบังตัวตนที่แท้จริงรึเปล่า 

แต่ถ้าดูแล้วดีแล้ว ด้วยความที่เรามั่นใจว่าเราไม่ได้ไปปิดบังมัน แล้วมันเป็นธรรมชาติของมัน ...แปลว่าจิตมันเริ่มคลายออกแล้ว มันเริ่มคลี่คลายออกจากรูปและนาม การเข้าไปหมายมั่นรูปและนาม 

เมื่อมันคลายออกจากการเข้าไปหมายมั่นรูปและนาม จิตมันจะเริ่มอยู่ในอาการที่ว่าเป็นปกติ เป็นธรรมดา ...ได้ยินคำพูด เห็นอาการทางตา ประสบกับเรื่องราวต่างๆ นานา รับรู้แล้วปุ๊บ...ก็เป็นปกติ มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา 

แปลว่าจิตมันเริ่มจางคลายออกแล้ว ...มีความคิดเกิดขึ้นก็ไม่ได้ทุรนทุราย  จำได้ว่าเขาว่าให้เราอย่างนั้น เขาพูดอย่างนี้ เขาแสดงอาการต่อเราอย่างนั้นอย่างนี้  พอนึกขึ้นมาได้ จำขึ้นมาได้ก็เฉยๆ ไม่ได้ตีโพยตีพายหรือว่าหูแดงตาแดง ...อย่างนี้ จิตมันเริ่มวางได้ในระดับนึง

ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ อยู่กับปกติของการรับรู้ไปเรื่อยๆ ...จนกว่ามันขาดกัน ขาดออกจากรูปและนามที่เรารับรู้ เรียกว่าต่างคนต่างอยู่ ...มันจะขาด ...ถ้ามันจะขาดแล้วมันจะขาดแบบต่างคนต่างอยู่  

ตาก็เห็นรูป สักแต่ว่าเห็น  หูได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน  จิตมีอาการต่างๆ นานา ความคิดความปรุงความแต่ง ความจำได้ ความรู้สึก ก็สักแต่ว่าจิต  อารมณ์ต่างๆ นานาที่ปรากฏขึ้น ก็สักแต่ว่าธรรม 

เนี่ย  มันจะแยกกันอยู่ แล้วไม่เข้ามาพัวพัน มาปนเปกัน มาเป็นของเราของเขา ...ตรงนี้จิตมันก็เริ่มมีความสุขมากขึ้น แต่ไม่ใช่สุขแบบกินข้าวอิ่ม ...สุขแบบไม่มีอะไร 

สุขแบบไม่ไปยินดียินร้าย และก็สุขแบบไม่เข้าไปมีอะไรกับมัน อย่างเนี้ย เขาเรียกว่ามีความสุขแล้ว ...แต่เป็นความสุขแบบเฉยๆ น่ะ ไม่ใช่สุขแบบ หูย  ตื่นเต้นดีใจหรือปีติ ไม่ใช่สุขแบบนั้น 

แต่เป็นสุขที่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเขา เป็นธรรมดา... สุขที่เป็นธรรมดา ท่านเรียกว่าเป็นสุข ...แล้วจะไม่ก่อภพ จะไม่ก่อเกิดความพัวพัน กับอาการ กับรูป กับนาม...ทั้งของเราเอง ทั้งของผู้อื่น 

อย่าว่าแต่ของภายนอกเลย แม้แต่รูปนามของตัวเองก็ยังแบบ...ดูเมื่อไหร่ก็เห็นเป็นเฉยๆ ไม่ได้ไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับมัน ไม่ได้ไปดีอกดีใจอะไรกับมัน ไม่ได้เข้าไปยินดี ไม่ได้เข้าไปยินร้ายกับอาการทางกาย กับอาการทางจิต ...มันจะอยู่อย่างนั้นเป็นปกติ

แล้วความปกตินั่นแหละจะเป็นปกติมากขึ้นๆ เป็นธรรมดามากขึ้นๆ นานขึ้น ต่อเนื่องขึ้น ...จนมันเป็นธรรมชาติ  ขันธ์ก็ส่วนขันธ์...ดำเนินไป  ธรรมชาติของใจรู้ก็รู้อย่างเดียว รู้เฉยๆ 

รู้เฉยๆ เป็นธรรมดา ไม่ไปบวก ไม่ไปลบ ...ทุกอย่างก็ดำเนินไป  โลกก็หมุนไป ขวาไปซ้าย ซ้ายไปขวา ...ก็ว่าไป เรื่องของเขา 

ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะไประราน เข้าไปมีเข้าไปเป็นอะไรกับเขา  หรือเข้าไปตั้งความเห็นใดความเห็นหนึ่งกับเขา เพื่อให้เกิดความเปรียบเทียบนั่นเปรียบเทียบนี่ 

เห็นมั้ย อยู่อย่างนั้นน่ะ เขาเรียกว่าอยู่แบบอิสระ ไม่ข้องเกี่ยวกัน ไม่พัวพันกัน ...อยู่แบบเป็นกลางๆ อยู่ในมัชฌิมาตลอด

มัชฌิมาก็จะแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นกลางมากขึ้น ไม่หวั่นไหว ไม่กระเทือน ...เห็นมั้ย ท่านเปรียบไว้ว่าจิตพระอรหันต์ จิตพระอริยะท่านหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน คือท่านไม่หวั่นไหวไปตามอาการของรูปและนามที่เปลี่ยน 

เพราะรูปและนามนี่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่คงที่เลย ...แต่พอมันขยับนิดนึง ตอนนี้ พวกเราเดือดร้อนแล้ว มากขึ้นก็เดือดร้อน น้อยลงก็เดือดร้อน...ดูเอา  เดี๋ยวก็ยินดี เดี๋ยวก็ยินร้าย ...ตลอดเวลา 

คือไม่ค่อยยอมรับมันเลยน่ะ ...เพราะเราจะมีค่ามาตรฐานของความสุขของเราอยู่เฉพาะแต่ละคน  ถ้าอย่างนี้ปุ๊บ..ผิดมาตรฐานกูแล้ว กูจะต้องเดือดร้อนแล้ว ...มันก็เตรียมเดือดร้อนเลย เตรียมเป็นทุกข์เลย 

อันนี้ได้มาตรฐาน...เอาเลย คว้าเลย งับปั๊บ จับ ดึงเลย ผูกไว้เลย ...ทั้งๆ ที่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราไปยุ่งกับเขาไม่ได้เลยนะ  แตะนิดเดียว...เดือดร้อนแล้ว 

บอกให้เลยว่าจิตเวลามันขาดจากกันแล้ว เวลาออกมาแตะนี่ ...แค่แตะนิดเดียวนี่เหมือนจับของร้อนเลย มันจะพั้บเลยทันที  ...นี่ ปัญญานะ ที่มันเห็นละเอียดมากขึ้น 

แค่ออกมารับรู้ด้วยอาการที่ยึดมั่นถือมั่น หรือจะเข้าไปมีเข้าไปเป็นนี่ แค่ขยับออกมาพั้บนี่ มันถอยเลย ...เหมือนเราจับกาน้ำร้อนเลยน่ะ มันเป็นอย่างนั้น

แต่ตอนนี้เราไม่ใช่แค่แตะ หูย...กอด เอามาเทิดทูนบูชา หวงแหน  ตัวก็เน่าเฟะร้อนพองอยู่แต่ไม่รู้ตัวเลย  นี่...คือมิจฉาทิฏฐินะ ...แล้วก็มาบ่น "ทำไมถึงทุกข์จังๆๆ" ...ไอ้ตัวกูก็กอดจัง แล้วก็บอกทำไมกูทุกข์จังๆ 

มิจฉาทิฏฐิมันไปปิดบังหมดเลย ...แม้แต่เริ่มการปฏิบัติ  พอเริ่มปฏิบัติก็ไขว่คว้าไว้เลย หาก่อนเลย  หาสภาวะใหม่ หาอารมณ์ใหม่ หาความสุขที่ใหม่กว่า ละเอียดกว่า ประณีตกว่า 

แค่ตั้งท่าไว้แค่นี้ เราบอกเลย...ผิดแล้ว  เพราะสมาธิหรือสติหรือว่าปัญญาจริงๆ นี่ ไม่ได้ไปเล่าเรียนของใหม่ หรือไปได้ของใหม่เลย ...แต่เป็นการกลับมาเห็นตามความเป็นจริงเท่าที่มีเท่าที่เป็นในปัจจุบันต่างหาก 

แล้วมาสำเหนียกศึกษากระบวนการของมัน เห็นกระบวนการของมัน ว่ามันเกิดอย่างไร มันมาจากไหน อะไรเป็นปัจจัยให้มันตั้งอยู่ อะไรเป็นปัจจัยให้มันตั้งอยู่นาน อะไรเป็นปัจจัยให้มันตั้งอยู่สั้น อะไรเป็นปัจจัยให้มันดับลง 

เนี่ย มันมี มันแสดงอยู่ตลอดเวลา ...แต่เราไม่เข้าใจ ไม่เห็นมัน  แล้วพยายามจะไปหา ไปค้น ...ถ้ายิ่งหายิ่งค้นน่ะยิ่งไม่เจอ ...อยู่เฉยๆ แล้วก็ดู สังเกตมัน 

ครั้งแรกไม่เห็น...ไม่ต้องกลัว  เดี๋ยวเกิดใหม่...ดูใหม่ เกิดอีก...ดูอีก ...เดี๋ยวมันจะไวขึ้น จะละเอียดขึ้น มันก็...อ๋อ ก่อนไอ้นี่เกิด ไอ้นี่เกิดก่อน ครั้งก่อนยังไม่เคยเห็น พอมาดูครั้งนี้ เอ้า เห็นแล้วโว้ย ไอ้นี่เกิดก่อนเว้ยถึงไอ้นี้เกิดอ่ะ 

มันจะเริ่มละเอียดลออขึ้น มากขึ้น ไวขึ้น เพื่อให้กลับมาเห็นกระบวนการหรือว่าปัจจยาการของมัน ว่าสิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้จึงเกิด สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้จึงเกิดๆ ...แล้วมันจะเห็นจนถึงว่า “ต้น” ของปัจจยาการคืออะไร 

เหมือนกับแม่น้ำปิงทั้งสายน่ะ เราใช้น้ำอาบใช้กิน ...แต่เราไม่เคยรู้ว่าต้นน้ำจริงๆ มันอยู่ที่ไหน มีแต่ใช้อย่างเดียว กินอย่างเดียว 

หรือเอามาเล่นน้ำ เอาน้ำไปสาดคนอื่นมั่งเวลาสงกรานต์ เอาน้ำมาอาบมาชำระสิ่งโสโครกสกปรกออกไปมั่ง ...ใช้กันลูกเดียว แต่ไม่เคยรู้เลยว่าต้นน้ำของมันจริงๆ มันเป็นยังไงมายังไง 

เหมือนกับการที่เราอยู่กับอารมณ์ ใช้กับความรู้สึก ใช้กับอาการนี้ ก็มีดีมั่งไม่ดีมั่ง ...แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ไอ้ที่เราอยู่กับมันนี่ ใช้กับมันนี่ มันมาอย่างไร อะไรเป็นปัจจัยให้มันมา... 




บทเย็นๆ รับสงกรานต์กัน จาก แทร็ก 2/13 ช่วง 2

อ่านบทเต็มได้ในบล็อกนี้ "คำสอนพระอาจารย์" แผ่น 2