วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"เป๊ะ"...ไม่เวอร์

ขอบคุณภาพประกอบ the blue acrobats photography



กาย-ใจ...ให้พอดีกัน 

ถ้าไม่พอดี..ส่วนที่ไม่พอดีนั่นน่ะคือส่วนที่ปรุงแต่ง 
เหมือนขันธ์นี่ ขันธ์มันมีพอดีอยู่เท่านี้ ... เท่ากับปัจจุบัน 

ถ้าขันธ์ที่เกินจากปัจจุบันกายปัจจุบันจิตตรงที่รู้อยู่เห็นอยู่ตรงนี้ 
พวกนี้เป็นอุปาทานขันธ์ทั้งหมด หรือว่าเป็นขันธ์หลอก 
ขันธ์ปลอม ขันธ์ไม่จริง เป็นขันธ์ที่ไม่มีสาระแก่นสาร 

แล้วถ้าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิที่ตั้งมั่นรู้อยู่กับปัจจุบัน 
พวกเรามักจะหลง เผลอเพลินไปกับมัน 
เข้าไปมี เข้าไปเป็น เข้าไปหมายมั่น 

แล้วก็เกิดความหลงผิดจริงจัง 
คิดว่าตัวนั้นเป็นตัวตนที่แท้จริง 
เป็นตัวเรา มีความเป็นเรา ความเป็นของเรา 
มันก็ไปเป็นทุกข์เป็นสุข มีสุขทุกข์ล่วงหน้าเกิดขึ้น

เพราะนั้นน่ะ การที่จะอยู่กับปัจจุบัน รู้เห็นปัจจุบัน มีการสอดส่องอยู่เสมอ 
นี่เขาเรียกว่ามีการพิจารณาธรรม ใคร่ครวญธรรมอยู่เสมอ 

อะไรมันเกิดขึ้นมา อะไรมันปรากฏขึ้นมา 
ก็อย่าไปตื่นเต้นตกใจ หรือว่าดีใจเสียใจอะไร

ให้ใคร่ครวญด้วยความแยบคายว่าธรรมนี้คืออะไร 
จริงหรือปลอม ใช่หรือไม่ใช่ เกินหรือขาด 

ถ้ามันไม่ใช่ มันก็ต้องมาเทียบเคียงดู
กับปัจจุบันขันธ์ที่ปรากฏ ยืน เดิน นั่ง นอน เท่านี้

นอกนั้นละได้ละไป อย่าไปจริงจังกับมัน 
ก็จะเห็นว่ามันเป็นขันธ์ที่เป็นอุปาทานขันธ์ 
เป็นขันธ์ไม่จริง ขันธ์ที่จะก่อให้เกิดทุกข์ อุปาทานทุกข์ 
ขันธ์ที่เกิดความต่อเนื่องไม่จบไม่สิ้น ขันธ์ที่ไม่มีวันจบ 

ก็มาอยู่กับขันธ์ปัจจุบัน แล้วก็รู้อยู่เห็นอยู่ 
ยืนเดินนั่งนอน เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ดับ

แล้วก็มาเรียนรู้ปัจจุบันธรรมปัจจุบันขันธ์ 
มันก็เห็นปัจจุบันนั้นเป็นขันธ์แค่ชั่วคราว 

เห็นความเป็นชั่วคราว แล้วก็หายไป เกิดใหม่แล้วก็หายไป 
ตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง ตั้งอยู่บนความเป็นกลาง 
ตั้งอยู่บนความเป็นปกติ ตั้งอยู่บนความเป็นธรรมดา 

คือมันไม่ใช่ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอะไร 
เหมือนกับเป็นซากขันธ์ อยู่กับซากขันธ์ที่แท้จริง

ส่วนอาการที่เป็นนามธรรม นามขันธ์ 
ถ้าจำเป็นต้องใช้ ต้องคิดต้องปรุง 
ก็ใช้ไปจบไป เป็นเรื่องๆๆ ไป

ถ้าไม่มีอะไร ไม่จำเป็นต้องคิด ไม่จำเป็นต้องปรุง
ก็ไม่ต้องปรุง ก็ละ ก็วาง ก็ปล่อย 
ก็แค่รู้ว่า ..เออ มันคิด ..อ้อ มันปรุง แค่นั้น 
อย่าไปสนใจ อย่าไปจริงจัง อย่าไปหา 
หรือว่า ให้ความคิดมันพาไปหาอะไร
คือไม่ตามใจมัน ไม่ตามมันไป ไม่ตามอารมณ์ 
ไม่ตามความอยาก ไม่ตามความไม่อยากออกไป 

ใจมันจะต้องตั้งมั่นเข้มแข็ง
ถ้าใจอ่อน ใจไหว ใจอ่อนแอนี่ 
มันมักจะตกลงไปในกระแสความปรุงแต่ง 
กระแสโลก กระแสผัสสะ ซึ่งมันจะมีอยู่ตลอดเวลา 

ถ้าไม่มั่นคงหรือว่าไม่เอาจริง
ในการที่กลับมาตั้งอยู่ในฐานกายใจ รู้อยู่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ขณะนี้นี่ 
ในโลก...ที่เราทำงานอยู่...ที่เราสัมผัสสัมพันธ์กับผู้คนอยู่ 
ยังไงๆ มันจะเป็นช่องทางออกอยู่ตลอดเวลา 
ไหล เลื่อนลอยออกไป ตามรูปเสียงกลิ่นรส 
ตามความอยากนิดๆ หน่อยๆ 

ไอ้เริ่มจากนิดๆ หน่อยๆ นี่ 
เดี๋ยวมันจะยืดยาวไปเลยแหละ 
บางที ..เฮ้ย ไม่เป็นไรหรอกๆ ปล่อยมันไป
ปล่อยมันไป ไม่เป็นไร ไม่ต้องดูไม่ต้องจริง
เดี๋ยวมันจะก่อร่างสร้างฐานเป็นความหลง
มันลาก ดึงกลับยากแล้ว

พอกลับมามีสติจะระลึกรู้ปุ๊บ 
มันเหมือนกับกระแสน้ำหลากน่ะ 
พอเป็นกระแสน้ำหลากแล้วเราไปยืนอยู่ตรงนั้น...น้ำเชี่ยวน่ะ 
เราก็เหมือนกับใบไม้ลอยอยู่ในกระแสน้ำเชี่ยวน่ะ 
มันไม่มีทางตั้งหลักตั้งฐานได้เลย 

แต่ถ้าเราไม่ประมาท ไม่เลินเล่อ 
แล้วก็รู้อยู่เสมอ รู้อยู่เนืองๆ รู้อยู่เป็นนิจ 
ไม่ว่านิดไม่ว่าหน่อย ไม่ว่ามันจะเคลื่อน ไม่ว่ามันจะขยับ 
นิดนึงก็รู้ นิดหน่อยก็เอา กลับมารู้ไว้ ตั้งไว้ 
ไม่มีอะไรก็ต้องรู้ ไม่มีอารมณ์ก็ต้องรู้ 
ก็มารู้กายเป็นฐานไว้ 

เนี่ย ใจมันจะเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ 
สมาธิมันจะตั้งมั่น มั่นคง ไม่หวั่นไหว
ยิ่งไม่หวั่นไหวเท่าไหร่ มันจะยิ่งเห็นชัดเจน
ในความเป็นไตรลักษณ์มากขึ้นเท่านั้นเอง 

ไม่ต้องไปหาความเป็นไตรลักษณ์หรอก 
ขอให้จิตตั้งมั่นเถอะ มันเห็นเอง 
เห็นอาการผ่านไปผ่านมา ไหลไปไหลมา 
เห็นอาการที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา 
มันเป็นอาการอะไรอย่างหนึ่งแค่นั้นเอง 
วูบวาบๆ ผ่านไปผ่านมาแค่นั้นเอง 
มันจะดำรงความเป็นกลางอยู่อย่างนั้น ด้วยใจที่ตั้งมั่น 
รู้อยู่เห็นอยู่อย่างเดียวนั่นแหละเป็นหลัก

เพราะนั้นสมาธิสำคัญ ...ถ้าไม่ตั้งมั่น ถ้าไม่เข้มแข็งนี่ 
จะถูกกระแสโลกกระแสขันธ์เนี่ย พัดพาไป
ไปตามกระแสที่เกิดอาการที่เรียกว่า หมุนวน” 
วนไปหาทุกข์ แล้วก็จมดิ่งลงไปในกองทุกข์ เร่าร้อน ขุ่นมัว 
ถึงไม่ทุกข์เป็นก้อนเป็นกำก็เศร้าหมอง ขุ่นมัว 
เกิดความไม่ชัดเจนในสิ่งใดเลย 
มันเกิดความละล้าละลัง ไม่ชัดเจน ไม่แน่ใจ 

นั่นแหละคือความเศร้าหมอง เป็นมลทิน 


คำสอน "พระอาจารย์"
(แผ่น 7) แทร็ก 7/1




(หมายเหตุ : มีบทที่ทำต่อเนื่องจากในแทร็กเดียวกันนี้
อ่านต่อได้ที่บท

"หมู"...รึเปล่า?
http://ngankhamsorn.blogspot.com/2017/01/blog-post_6.html




วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แจ็กพอต!





พระอาจารย์ –  ภาวนาหาเกิดมาตั้งหลายปีแล้ว ยังก้าวข้ามความเป็นคนไม่ได้เลย ยังหนีพ้นความเป็นคนไม่ได้เลย ทั้งหัวเราะไปทั้งร้องไห้มาก็เยอะ ก็ยังก้าวข้ามความเป็นคนนี้ไม่ออก

นี่คือภพชาติปัจจุบันนี่ ...เอามันไปไว้ไหนล่ะ เอาไว้ลงหลุมเหรอ เอาไว้เผาเวลาตายเหรอ เอาไว้ให้ญาติเก็บกระดูกมาขึ้นหิ้งหรือไง หือ ...มีกายเอาไว้แค่เนี้ยนะ

ถ้ามีกายไว้แค่นี้ เราเรียกว่าอะไรรู้ไหม...เสียชาติเกิด ...อุตส่าห์ดิ้นรนขวนขวายลงทุนลงแรงนะ กว่าจะได้กายก้อนนี้มาน่ะ ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ...ได้กายมานี่ไม่ใช่ของง่าย

ท่านเปรียบเหมือนว่า...มีเต่าตัวหนึ่งดำผุดดำว่ายอยู่ในมหาสมุทร แล้วร้อยปีทีหนึ่งจึงมีบ่วงบาศทิ้งลงมากลางมหาสมุทร แล้วมันคล้องพอดีหัวเต่านั้นน่ะ ...นั่นน่ะการเกิดมนุษย์ ยากขนาดนั้น ไม่ใช่ของง่าย

การได้กายมาเป็นสมบัติ การได้ขันธ์ห้ามาเป็นสมบัตินี่...มนุสสปฏิลาโภ ...ยังมีผู้อยากเกิดเป็นคนอีกเยอะ ยังมีจิตวิญญาณมากมาย นับอเนกอนันต์ที่รอการมาเป็นคน...แต่ยังไม่มีโอกาส

แต่พวกเราๆ ท่านๆ นี่ มีโอกาส ได้โอกาส ...แต่ใช้โอกาสไม่เต็มที่  ปล่อยให้กายนี้ ค่อยๆ เสื่อมสภาพแตกสลายไป...โดยไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลในองค์มรรคขึ้นมาเลย

อีกทั้งบางผู้ปฏิบัติยังถึงขั้นปรามาสกายและศีล ว่าเป็นของต่ำ ว่าเป็นของไม่สำคัญ ว่าเป็นของพื้นๆ ว่าเป็นของที่ทำให้ติดข้องหรือว่าบังในการภาวนาด้วยซ้ำ

โอกาสของกายนี่...มีไม่มาก ประมาณโดยเฉลี่ยก็ ๘๐ ปีเท่านั้นเอง นิดเดียวนะ...เทียบกับอายุขัยจักรวาล อนันตาจักรวาล เทียบกับอายุที่ไม่มีวันจบสิ้นของจักรวาล...ถือว่าเหมือนกับน้ำค้างกลางหาวหนึ่งหยดเอง

นี่เขาเรียกว่าเป็นนาทีทอง...ที่จะตักตวงศีล เพื่อเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เพื่อเป็นเหตุให้เกิดปัญญา เพื่อให้เกิดความชัดแจ้งในองค์มรรค เพื่อดำเนินอยู่ในองค์มรรคจนถึงผล

แต่นักภาวนากลับละเลย เมินเฉย ไม่เห็นสาระสำคัญในกาย ไม่เห็นสาระสำคัญในศีล..ปกติปัจจุบันกายปัจจุบันศีลนี้ ...กลับไปเห็นสาระสำคัญในศีลที่เป็นข้อๆ ข้อๆ แค่นั้น 

แล้วก็กลับไปเห็นสาระสำคัญในการภาวนา...ในส่วนที่เป็นนามธรรม สภาวธรรม สภาวะจิต สภาวะอารมณ์ สภาวะกิเลส ...มันละเลยรากเหง้า พื้นฐาน

นี่เวลาพวกเราไปรับศีล พระท่านให้ศีลให้พร...สีเลนะ สุคะติง ยันติ .. สีเลนะ โภคะสัมปะทา .. สีเลนะ นิพพุตติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธะเย ...จะสำเร็จเข้าสู่นิพพานได้ด้วยศีลวิสุทธินี่...อันบริสุทธิ์ในศีล

ฟังกันเช้าค่ำนั่นแหละ เวลาเข้าวัดทำบุญให้ทานขอศีลอะไรนี่ จะต้องมีพระท่านบอกว่า สีเลนะ นิพพุตติง ยันติ ตัสมา สีลังวิโสธะเย ... สีลังวิโส สีลวิโส คือศีลวิสุทธิ

แต่พวกเรากลับให้สาระสำคัญในศีลวิสุทธินี่น้อย แล้วก็คลาดเคลื่อนในนัยยะของคำว่าศีลวิสุทธิ ศีลอันบริสุทธิ์ ...บริสุทธิ์กายจึงจะถึงคำว่าบริสุทธิ์ใจ อันนี้ก็เป็นคำพูดที่มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว

ทุกอย่างทำด้วยความบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์ใจ นี่ภาษาคำพูด ...แต่จริงๆ ไม่เคยบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์ใจหรอก  ปากว่าเฉยๆ มันไม่เข้าถึงความบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์ใจในความเป็นจริง

คำว่าบริสุทธิ์กาย...มันบริสุทธิ์ยังไง เข้าถึงความบริสุทธิ์กายมันเข้าถึงยังไง ทำยังไงถึงจะทำความบริสุทธิ์กายให้เกิดขึ้นได้ ...ตรงนี้ต้องมาเรียนรู้เรื่องของศีล 

ตรงนี้ต้องเอาสติมาเรียนรู้กับกาย ที่มันมี ที่มันกำลังดำรงอยู่ในปัจจุบัน ...แล้วมันเฟ้น..สติ สมาธิ จะเป็นตัวเฟ้น คัดกรอง สิ่งที่มันแอบอิงกับกายปัจจุบัน 

นี่ไม่พูดในฐานะกายอดีตกายอนาคตเลยนะ ...อะไรที่มันแอบอิงอยู่กับกายปัจจุบันนี่ สติ สมาธิ และปัญญานี่ มันจะคัดกรองออก กลั่นกรอง แยบคาย โยสิโสมนสิการออก

จนเหลือแต่กายเน็ทๆ กายล้วนๆ ที่ปราศจากมลทินแอบอิง เจือปน ครอบงำ ปิดบัง บิดเบือนจากสภาพที่แท้จริงของกาย ...ก็จะเข้าถึงวิสุทธิกาย ก็จะเข้าถึงวิสุทธิศีล เป็นครั้งเป็นคราวไป

ความรู้สึกแข็ง ตึง อ่อน แน่น หนัก เบา ไหว นิ่ง อุ่น ร้อน หนาว เย็น ยวบยาบ ซาบซ่าน ...เหล่านี้คือความรู้สึกที่แท้จริงของกาย คือการปรากฏขึ้นของกายอย่างแท้จริง

คือความเป็นกายตามสภาพ ที่ไม่ได้เกิดจากการเสกสรรปั้นแต่งของใครบุคคลใด ...จึงเรียกว่าเป็นกายปกติ กายธรรมดา หรือกายศีล หรือกายวิสุทธิ...กายอันบริสุทธิ์

ปราศจากมลทิน...คือความคิด ความเห็น ความปรุงแต่ง ความหมายมั่น ความเชื่อ ภาษา บัญญัติ ตำรา อดีต อนาคต ...เห็นมั้ย ตัวมลทินที่มันมาครอบงำกายนี่ มันเนื่องมาจากจิตล้วนๆ

แล้วมันจะเห็นกายบริสุทธิ์ได้ด้วยวิธีการใดเล่า ถ้าไม่ใช่ด้วยสัมมาสมาธิ..ใช่ไหม ...แล้วทำกันบ้างไหมเนี่ย เออ ไม่ใช่ว่าทำแค่พอผ่านไปที 

แค่นั้นน่ะมันจะพอมั้ย มันจะพอล้มล้างได้มั้ย ...กับกิเลสที่มันนอนเนื่อง จมแช่ ให้มันเผลอไผล ล่องลอยออกจากก้อนกายก้อนศีลในปัจจุบัน

แต่ให้มันเห็นซ้ำซากลงในก้อนนี้...ที่นี้ที่เดียว เวลาเดียว ...รู้ไหมเวลาเดียวคือเวลาไหน ...คือเวลาปัจจุบัน ถือเวลาปัจจุบันเป็นเวลาเดียว

กายมันไม่หนีไปไหนหรอก เขาก็แสดงความเป็นจริง..หัวจรดตีนเนี่ย..วันยังค่ำ ไม่เคยมิดเม้ม ไม่เคยปิดบัง ไม่เคยแอบ ไม่เคยซ่อน ...เขาประกาศความเป็นจริง ทุกปัจจุบันไป

มันต้องไปค้นไปหาที่ไหนไหมเนี่ย มันต้องไปทำขึ้นมาใหม่ไหมเนี่ย มันต้องไปออกแรงแบกหามไหม มันต้องไปลงทุนทำบุญ ไปรอผลบุญในภายภาคหน้าไหม 

มันต้องลงทุนมาเชียงใหม่มั้ย มันต้องลงทุนมานั่งอยู่หน้าอาจารย์มั้ย มันต้องเปลี่ยนเป็นท่านั่งขัดสมาธิเพชรสองชั้นหรือสี่ชั้นไหม ...มันถึงจะเห็นอันนี้ขึ้นมาได้นี่ หือ มันง่ายเกินไปไหมเนี่ย

เออ ก็เพราะไอ้มันง่ายเกินไปนี่ มันเลยไม่ค่อยเชื่อ..."ไม่น่าจะใช่  พระพุทธเจ้าท่านน่าจะสอนอะไรที่มันยากกว่านี้รึเปล่า ละเอียดลึกซึ้งกว่านี้รึเปล่า...เอาที่ไหนมาพูด อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ"

แต่มึงต้องเชื่อ เพราะกูเป็นพระพูด...ไม่ได้อมพระมาพูด แต่กูเป็นพระมาพูด มึงต้องเชื่อ 

เออ ถ้าอมพระมาพูด..ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แต่นี่เป็นพระมาพูดนี่ต้องเชื่อซะบ้าง ไม่ได้โกหก ...เถียงมาดิ ไอ้ที่พูดมามันไม่จริง เถียงได้มั้ย



คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก

คำสอน "พระอาจารย์"

(แผ่น 15) แทร็ก 15/30





วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เฉลยข้อ ก.กาย

ขอบพระคุณภาพ :  วัดพระสี่อิริยาบถ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
Thanks for image  :  Wat Phra Si Iriyabote (Kamphaengphet)





พระอาจารย์ –  เพราะนั้นถ้าเพียรเพ่งลงที่กาย รู้เห็นแต่จำเพาะกายจริงๆ นี่ มันจะเห็นขันธ์ห้าเกิดดับ และก็จะเห็นว่าขันธ์ห้ามันเกิดที่ไหน เกิดจากอะไร ...ขันธ์ห้าเกิดมาจากจิตปรุงแต่ง

แต่ถ้าไปดูขันธ์ห้าเกิดดับ จะไม่เห็นกายตามความเป็นจริง จะไม่รู้จักกายตามความเป็นจริง ซึ่งกายตามความเป็นจริง ใจตามความเป็นจริงนี่ คือแก่น แก่นของขันธ์ห้า

คือมันเป็นตัวอ้างอิงของกิเลส ที่มันจะสร้าง...อาศัยกายใจนี่เป็นตัวอ้างอิงไปสร้างขันธ์ห้า เพราะนั้นถ้าไปดูขันธ์ห้าเกิดดับ มันก็ไม่มีการที่จะถึงที่สุดของขันธ์ห้าเกิดดับ ที่ว่าดับโดยสิ้นเชิง

มันจะดับได้ยังไงโดยสิ้นเชิง เพราะมันยังไม่รู้เลยว่าต้นตอของขันธ์ห้านี่ มันมาจากอะไร มันอ้างอิงอะไรเป็นการสร้างขันธ์ห้าขึ้นมา ...รูปเวทนาสัญญาสังขาร มันอ้างอิงอะไร

มันก็บอกตั้งแต่ต้น ตั้งแต่หัวข้อแรกแล้วว่า “รูป” ...รูปมันอ้างอิงกับอะไร ...มันอ้างอิงจากกาย การดำรงคงอยู่ของกายนี่ มันอ้างกาย

กิเลสมันอ้างกายขึ้นมาเป็นรูปลักษณ์ สถานะ วรรณะ สัณฐานขึ้นมา พอมีรูปปุ๊บนี่ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พรึ่บ นี่ขันธ์ห้าเกิดแล้ว...โดยอ้างอิงกายเป็นหลัก

แต่ถ้าไปดูขันธ์ห้าเกิดดับ ดูขันธ์ห้าเกิดดับ แต่ไม่รู้ว่าต้นตอของขันธ์ห้านี่มันมาจากไหน จิตมันก็ยังอาศัยขันธ์ห้านี่เป็นเครื่องมือในการก่อร่างสร้างกิเลส

ความต่อเนื่อง ความสืบเนื่องในขันธ์ห้า ไม่มีคำว่าทุเลาเบาบางลงเลย ...มันต้องมาแก้ที่เหตุ หรือว่าต้นตอของขันธ์ห้า นี่...มันจะหนีพ้นกายใจได้ยังไง

จนกว่ามันจะรู้จริงรู้แจ้งว่ากายคือสักแต่ว่ากาย กายคือสักแต่ว่าการรวมตัวกันของธาตุ กายคือสักแต่ว่าสภาวะธาตุ สภาวะเวทนาที่เป็นเอกภาพเอกธรรม อิสรภาพอิสระธรรม ไม่ได้ขึ้นแก่ใครแล้วนั่นแหละ มันจึงจะเข้าใจ

ทีนี้กิเลสมันจะมาหลอกลวงสร้างกายสร้างรูปมาจากกายที่เป็นเราได้อย่างไร ขันธ์ห้ามันจะเกิดได้อย่างไร นี่ ...ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันตาย ขันธ์ห้าก็ดับก่อนแล้ว

พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าขันธ์ห้าเป็นของว่าง แล้วนอกจากว่างแล้ว ยังไม่มีขันธ์ห้าในเรา ยังไม่มีเราในขันธ์ห้าอีกด้วยซ้ำ และยิ่งกว่านั้น ท่านยังบอกว่าโลกสามโลกธาตุนี่ว่าง เป็นสุญโญ

เพราะนั้น กายใจที่เดียวนี่จบหมดน่ะ ทำให้มันได้เหอะ ทำให้มันจริงเหอะ ...แล้วก็จริงๆ จังๆ ลงไป เอาแบบว่าเก็บมันทุกเม็ดเลยน่ะ ไม่เอ้อระเหยลอยชาย

แบบภาษาที่เขาว่า อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล ...อย่าปล่อยให้กิเลสมันลอยนวล อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัว อย่าปล่อยจิต อย่าอยู่แบบเลื่อนๆ ลอยๆ ...เหนื่อยก็ต้องเหนื่อย ยากก็ต้องยาก

เพราะนั้น เมื่อรู้แล้วข้อสอบคืออะไร คำเฉลยข้อสอบคืออะไร ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าต้องตั้งใจกามัน ...แล้วไม่ใช่แค่เข้าใจไปกาครั้งเดียวแล้วก็เลิก กาแล้วต้องคาไว้เลย

ไม่งั้นน่ะมันจะไปติ๊กข้ออื่น ไปเอาเรื่องที่อื่น มาเป็นเรื่อง แล้วมันจะไม่มีคำว่าจบเรื่องเลย ...เพราะนั้นมันต้องค้างคาอยู่ตรงนี้เลย จรด..จรดไว้เลย เอาจิตน่ะมาจรดไว้อยู่ตรงนี้ จรดไว้เลย

เพ่งก็เพ่งล่ะวะ คร่ำเคร่งก็ต้องคร่ำเคร่งล่ะวะ เครียดก็ต้องเครียดล่ะวะ ดีกว่าหลงน่ะ ดีกว่าหายน่ะ เครียดอยู่ในกาย ดีกว่าไปเครียดเรื่องกายคนอื่นน่ะ เอาป่าวล่ะ

ก็ต้องเครียดน่ะ เพราะมันจะออกจากทุกข์ได้นี่ มีช่องเดียวเท่านั้น นี่ มีช่องเดียวเท่านั้น ไม่มีช่องสำรองเลยน่ะ ...ตายตัว มรรคผลนี่ตายตัว ขาดตัวเลย ไม่มี choice ABC

เพราะนั้นการฟังนี่ ที่เราชี้แจงนี่...เหมือนกับเราบอก เราเฉลยข้อสอบให้แล้ว บอกแล้วข้อสอบที่ถูกคือข้อนี้ ...ไม่ผิดหรอก เราไม่ได้โกหกว่าข้อนี้ผิดหรือถูก เราบอกแล้วว่า...ถูกตรงๆ ถูกจริงๆ ถูกกว่าทุกข้อ

แต่ใครจะกาหรือไม่กา...อยู่ที่ตัวคนนั้น หรือว่ารู้แล้วยังไปกาข้ออื่น...ก็ไม่ว่ากัน





คัดลอกโดยตัดทอนและเรียบเรียงจาก

คำสอน "พระอาจารย์" 

(แผ่น 16) แทร็ก 16/28-30 





วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เอ้า ฮึบ..."ลุก"





พระอาจารย์ –  เพราะนั้นกายใจต้องเป็นสิ่งที่ถือไว้อย่างถาวร จะมีกิเลส จะไม่มีกิเลส ก็ไม่ทิ้งกายใจ ...ไม่ใช่ว่าไปตั้งอกตั้งใจรู้ตัวตอนที่เฉพาะมีอารมณ์หรือมีความคิด

ไม่มีกิเลส รู้สึกว่าไม่มีกิเลสเลย ไม่มีอารมณ์เลย  ก็ยังต้องถือกายใจไว้ ไม่วาง ...อย่างอื่นวางได้หมด ยกเว้นกายใจ ยกเว้นศีลสมาธิปัญญา วางไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ วางไม่ได้เลยน่ะ

 ถ้ากล้าแลก ...แลกกับความสัมพันธ์ทั้งหมด แลกกับความถูกผิดในโลกทั้งหมด แลกกับความชมชอบของจิตเรา ความไม่พอใจ ความพอใจของจิตเราในอารมณ์โลก

นี่ ท่านแลก สละออก แลกไป ...เพื่อให้ได้กายใจปัจจุบัน เพื่อดำรงกายใจอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้รู้ถึงกายใจปัจจุบัน อย่างต่อเนื่อง

เพราะนั้นมันไม่ใช่ว่ามันจะได้กันมาง่ายๆ  มันต้องแลกเอามา ...จนบางท่านบางองค์ก็ต้องแลกชีวิตกันเลย เพื่อจะไม่ให้จิตมันคลาดออกจากกายใจปัจจุบันนี้ไป

แล้วไปก่อเรื่องก่อราว ไปก่อร่างสร้างขันธ์มารองรับ สร้างอารมณ์เป็นเราของเราขึ้นมา ข้างหน้าข้างหลัง ในภายภาคหน้า เป็นภพชาติชราพยาธิมรณะต่อไป

ถึงบอกกิเลสนี่เป็นสิ่งที่เหนียวแน่นที่สุดในสามโลกธาตุ ...อะไรที่ว่าเหนียวๆ เรียกว่าขาดได้ยาก ละไม่ขาด หรือว่าไม่มีเครื่องบั่นทอนทำลายล้างที่ว่ายากที่สุดในวัตถุข้าวของเรื่องราวต่างๆ

กิเลสนี่เป็นสิ่งที่เหนียวแน่นยิ่งกว่าอีก ยิ่งกว่าความเหนียวแน่นใดๆ ในโลกนี้ ...ถ้ายังปล่อยจิตปล่อยใจ ถ้ายังปล่อยเนื้อปล่อยตัว ให้เป็นเหมือนเดิม อย่างเดิม แบบเดิม ...ก็เรียกว่าประมาทตายใจกับกิเลส 

พวกเรา พวกผู้ภาวนานี่ ยังมีช่องว่างเยอะ เยอะแยะ เยอะจนเรียกว่า...รู้จักกระชอนไหม นั่น เอากระชอนไปตักน้ำน่ะ ...นั่นน่ะ ถามว่าศีลสมาธิปัญญาอยู่ไหน ก็อยู่ในกระชอนนั่นน่ะ

ปริมาณของศีลสมาธิปัญญามีแค่ไหน ก็อยู่ในกระชอนนั่นน่ะ ตักเข้าไปเหอะ ตักเท่าไหร่ก็รั่วเท่านั้นน่ะๆ ...มันจะเก็บพลังอำนาจของศีลสมาธิปัญญาได้ยังไง หือ  

นั่นน่ะคือรูรั่ว ช่องว่างที่มันออกไปพร้อมกับจิตปรุงแต่งน่ะ มากมายนับไม่ถ้วนกันอย่างนั้นน่ะ

เห็นมั้ย กิเลสมันไวขนาดไหน พึ่บ ไปเลย พั้บ ไปเลย ...มันหลุดข้ามกาย ทะลุกายไปแบบไม่เห็นฝุ่นเลยน่ะ ...กิเลสนำหน้านี่ นำหน้าแบบไม่เห็นฝุ่นเลย 

แล้วพอไปแบบไม่เห็นฝุ่นแล้ว ...ไม่มีคำว่ากลับตัวด้วยนะ ไปแล้วไปลับ ไปแล้วไปจ้อยเลย หายจ้อยเลยนะ ครึ่งค่อนวัน ...มันรั่วขนาดนั้น ศีลสมาธิปัญญามันรั่วขนาดนั้น

แล้วถามว่า...จะเอาอะไรไปละกิเลส หือ มันจะเอาปัญญามาจากไหน ...นี่คือคำตอบ นี่คือเฉลยคำตอบ ว่าคำตอบที่ถูกที่สุดอยู่ตรงไหน ...มรรคที่จะส่งผลจนเกิดผลน่ะ มันคือตรงไหน ต้องขีดระดับไหน 

แล้วพวกเราอยู่ในขีดขั้นไหนขององค์มรรค คือขั้นตอนไหนของศีลสมาธิปัญญาล่ะ ...ลองวัดแบบเทียบค่ากับกิเลส ประเมินกับกิเลสที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ดู มันก็เห็นแล้ว

เพราะนั้นสิ่งที่มันจะดึงให้ออกนอกกายใจนี่ มันมีตลอดเวลา...มาแบบคาดไม่ถึงเลย และตลอดเวลา กิเลสมันท่วมท้นสามโลกธาตุ ครอบงำสามโลกธาตุหมดเลย มืด มิดเลย คลุมแบบมิดเลย

ถ้าไม่เอาความตั้งใจอดทนมาสู้กันในเบื้องต้นแล้วนี่ คือตั้งใจที่จะรู้จริงๆ จังๆ กับกายนี้ ...เอาความตั้งใจนี่มาเป็นตัวสู้กับกิเลสก่อน เอาความอดทนเป็นตัวสู้กับกิเลสก่อน 

เรียกว่าขันติเป็นตบะที่แผดเผาก่อน ...แล้วมันก็ค่อยๆ ก่อร่างสร้างศีลสมาธิปัญญาขึ้นมา

คืออย่าพัก เหนื่อยก็ทำ ไม่เหนื่อยก็ทำ ดันทุรังกันไปมาอย่างนี้ ...ดันทุรังกับกิเลสนี่ ไม่ต้องถามถึงชนะหรอก แพ้มันตลอด เข้าใจรึเปล่า รู้สึกว่าแพ้อยู่ตลอด...ก็ต้องทำ อย่างนั้นน่ะ

ไม่มีแม้แต่ว่าอิ่มใจได้ขณะหนึ่งว่า กูชนะแล้ว ยังไม่ถึงขั้นนั้นหรอก ...เพราะนั้นมันจะมีความรู้สึกว่า ไม่ไหว ไม่ได้ ไม่ได้เรื่อง อยู่ตลอดเลย อยู่อย่างงั้นแหละ

แต่อย่าหยุด ที่จะมุ่งมั่น มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการปฏิบัติ นี่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติโดยไม่หวังผล แม้ว่าผลที่ได้คือแพ้ตลอด

เพราะกิเลสมันเยอะเหลือเกิน มากเหลือเกิน ...เรื่องที่เกิดค้างไว้..เยอะแยะ  แล้วยังมีเรื่องที่ยังมาไม่ถึงอีก..เยอะแยะ  แล้วไอ้เรื่องที่อยู่ในปัจจุบันก็อีก..เยอะแยะ

มันก็เป็นธรรมดา ...ก็บอกแล้วว่าเวลาว่ายน้ำแล้วไม่เห็นฝั่งนี่ มันจะเป็นอยู่ในอาการนั้นน่ะ ทุกคนไป ...ไม่ว่าใคร ไม่ว่าพระอริยะองค์ไหน ท่านก็เริ่มต้นจากจุดนี้ทั้งนั้น

เอ้า ไป ไปตั้งเนื้อตั้งตัว ไปตั้งกายตั้งใจ ...ถ้าตั้งไม่ได้มันก็ล้ม 
ถ้าตั้งได้ ตั้งกายได้...มันก็ตั้งใจได้  ใจก็ตั้งกายก็ตั้ง 
ต้องคอยตั้งอยู่ตลอด เพราะมันจะล้มอยู่เสมอ

อย่าไปทำเป็นตุ๊กตาล้มลุก 

แต่เอาเหอะ...ล้ม-ลุก ...ก็ยังดีกว่าล้มแล้วไม่ลุก




คัดลอกโดยตัดทอนและเรียบเรียงใหม่จาก

คำสอน "พระอาจารย์" 

(แผ่น 16) ชุดแทร็กต่อเนื่อง 16/28-30