วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"ยอม" (2)





(หมายเหตุ  :  ต่อเนื่องจากบทความ "ยอม...?"(1)


พระอาจารย์ –  แต่โดยสามัญลักษณะกับศีลสมาธิปัญญาที่เป็นสัมมา...ก็แก้ได้หมด ...แก้โดยไม่แก้ แก้ด้วยการยอมรับ ...ด้วยการยอมรับในทุกสิ่งที่ปรากฏ

มันเป็นเช่นนั้นเอง มันตั้งอยู่อย่างนั้นเอง มันเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นเอง แล้วมันก็ดับไปอย่างนั้นเอง

ไม่ได้เกิดเพื่อใคร ไม่ได้ตั้งอยู่เพื่อใคร และก็ไม่ได้ดับเพื่อใคร

และก็ไม่มีใครไปทำให้เกิด ทำให้ตั้ง และก็ไม่มีใครทำให้มันดับไป  
.....

แต่ด้วยความไม่รู้นี่...มันเข้าใจว่ากูทำได้ เราทำได้ คนนั้นทำได้ คนนี้ทำได้ มีวิธีการอย่างนั้น มีวิธีการอย่างนี้ ที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น ที่จะให้มันเป็นอย่างนี้

นี่มันเข้าไปเบียดเบียนความเป็นจริงหมดเลย
.....

เมื่อเรารู้เรื่อยๆ รู้ตัวบ่อยๆ แล้วก็กลับมาอยู่ในฐานะเป็นกลาง ...มันก็จะถอนออกจากเจตนาทั้งหมดเลย ถอนออกจากผู้ที่เข้าไปกระทำ ผู้ที่เข้าไปรับ ...ในเบื้องต้นมันจะถอนออก 

เราถึงบอกให้รู้เฉยๆ ...นี่ ก็ละเจตนาไปในตัว มันก็ละการกระทำไปในตัว  

การกระทำนี่ ใครกระทำ ... “เรา” น่ะแหละ ...ไม่มี “เรา” ก็ไม่มีการกระทำ ...เมื่อมีการกระทำเมื่อไหร่  เมื่อนั้นน่ะ “เรา” น่ะเป็นคนทำ  ความเห็นว่าเป็น “เรา” น่ะมันพาทำ

เพราะนั้นเมื่อไม่มีเราทำ มันก็มีแค่รู้กับเห็นว่า อ้อ..นั่ง อ้อ..เดิน อ้อ..ยืน อ้อ..คิด อ้อ..ปรุง อ้อ..ดีใจ อ้อ..กังวล อ้อ..เสียใจ อ้อ..กลัว ...ก็มีแค่รู้ แต่ไม่มี “เรา” เข้าไปยุ่งในอาการ ...นี่มันละเจตนาไปในตัว

เพราะฉะนั้นเมื่อละเจตนาไปในขณะนั้น ก็ละความเป็นเราไปพร้อมกัน สักกายก็ถูกละ หรือทำให้น้อยลง ...จนขาดไป จนเห็นว่าไม่เห็นมันทำอะไร มันก็อยู่ได้

แต่ตอนนี้มันยังคิดว่า...ถ้าไม่ทำอะไรแล้วอยู่ไม่ได้ "เรา"อยู่ไม่ได้  "เรา" ต้องทำอะไรสักอย่างนึงมันถึงจะอยู่ได้  "เรา" จะต้องทำยังไงกับเรื่องราวข้างหน้านี้ เราถึงจะอยู่ได้

จนกว่ามันจะยอมรับว่า...เมื่อไม่มี "เรา" ไม่เห็น "เรา" มาทำอะไร ...มันสามารถอยู่ได้ ไม่เห็นมันตายเลย มันก็อยู่ได้ไปเรื่อยๆ ของมันน่ะ อยู่ไปงั้นๆ น่ะ
.....
มันแตกต่างกันที่มีปัญญาเข้าใจ...แล้วไม่เข้าไปเป็นเรากับของทุกสิ่ง ...แล้วไปไหนก็ได้ นั่งก็สบาย ลุกก็สบาย ทำก็สบาย ไม่ทำก็สบาย

ทำด้วยใจที่เบาๆ รู้เบาๆ เห็นเบาๆ แล้วก็ผ่านไป..แล้วก็ผ่านไป..เป็นธรรมดา ...ง่าย..ใช้ชีวิตก็ง่าย ใครทำอะไรก็ง่าย เขาให้เราทำอะไรก็ง่าย

ทำไมเราต้องมีเงื่อนไขล่ะ ทำไมเราต้องมีข้อแม้ล่ะ ...นั่นน่ะยาก นั่นแหละภาระ นั่นแหละไม่ยอม ใจมันไม่ยอม

ไม่ยอมเพราะอะไร ...เพราะมันผูก...ผูกไว้กับภพที่มันต้องการ พอใจ  หรือเวทนาที่มันต้องการ เวทนาที่มันพอใจ ...มันไม่ยอมให้เปลี่ยน มันจะไม่ยอมให้เปลี่ยน

ไอ้ที่ไม่ยอมให้เปลี่ยนนั่นน่ะ คือมันยึดเอาความเที่ยง ยึดภพนั่นเป็นของเที่ยง ...ไม่ยอม มันเลยไม่ยอม ไม่ยอมน่ะ จะให้มันเที่ยง

เพราะมันไม่เห็นไตรลักษณ์ มันไม่เห็นความเป็นจริงว่ามันไม่เที่ยง ...แล้วมันยึดถือไม่ได้ มันยึดครองไม่ได้ บังคับไม่ได้ ...เพราะมันเป็นอนัตตา เห็นมั้ย

แต่ว่ามันไม่ยอม ...เพราะมันจะทำให้เที่ยง เพราะมันเป็นตัวของเรา เพราะมันเป็นอารมณ์ของเรา...ต้องเป็นอารมณ์นี้เท่านั้น อารมณ์อื่นไม่ได้ ...นี่ มันรู้สึกอย่างนี้

อย่างอื่นจะมาเปลี่ยนแปลงทำลายความรู้สึกอย่างนี้ที่เราถือครองไว้ไม่ได้ หรือที่มันปรากฏอยู่ด้วยความเคยชินที่ว่าเราพอใจมัน...ไม่ยอมให้มันหายน่ะ ...มันเลยไม่ยอม

มันก็เลยอาลัยอาดูร หวงแหนสภาวธรรมนั้นๆ  พยายามสุดลิ่มทิ่มประตูที่จะรักษาสภาวธรรมนี้ให้ได้ ให้เที่ยงที่สุดเท่าที่จะเที่ยงได้ ...เนี่ย ด้วยความไม่รู้ทั้งสิ้น

มันต้องแก้ทิฏฐิความเห็นตรงนี้...ด้วยการยอมรับ ด้วยศีลสมาธิปัญญา...รู้เป็นกลางๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นในปัจจุบัน แค่นี้ ...เป็นการเรียนรู้ไปทีละเล็กทีละน้อย ให้มันฉลาด 

ให้จิตให้ใจดวงนี้มันฉลาด...ด้วยการรู้เห็นตรงๆ ...มันก็จะเปิดเผยโลกตามความเป็นจริง...ว่ามันเป็นไตรลักษณ์เยี่ยงไร เช่นไร หรือเป็นอย่างนั้นเอง

ด้วยปัจจัตตัง มันก็จะเก็บเกี่ยวความรับรู้...เท่าที่มันเห็นด้วยสัมมาทิฏฐินี่แหละไปเรื่อยๆ ...จนถึงสัมมาทิฏฐิสูงสุดเลย
.....

จนถึงที่สุด...ถอนออกหมดที่ความไม่รู้ทั้งสิ้น...เรียกว่าอวิชชาสวะ ...นี่คือรากเหง้าที่มันจมอยู่ภายในรู้ตรงนี้...ตรงที่รู้ว่านั่ง รู้ว่าเดินนี่แหละ

มองดูมันไม่มีอะไรนะ ...แต่ในนั้นน่ะบานเลย  ยังมีอะไรที่เรามองไม่เห็นอีกเยอะ ที่มันพร้อมที่จะคลายตัวออกมา ให้เราหลง...หรือให้เรารู้แล้วละ

เวลามันคลายตัวออกมานี่ ถ้าไม่มีปัญญาก็หลงไปกับมัน ...ถ้ามีปัญญาก็เออรู้แล้ว เออ เข้าใจ แล้วก็ละทิ้งซะ ไม่เก็บเข้ามาอีก

ไอ้อย่างเนี้ย คือการปฏิบัติ อย่างเนี้ยถึงเรียกว่าอยู่ในองค์มรรค ...ว่าขยันเก็บ...หรือว่าขยันละออก



คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
คำสอน "พระอาจารย์" 
แทร็ก 4/21  




(หมายเหตุ  :  ขอบพระคุณภาพ "พระพุทธไสยาสน์" ที่วัดกู้ ปากเกร็ด ...จากครั้งน้ำท่วมปี 2554)



ยอม...? (1)






พระอาจารย์ –  ให้รู้เฉยๆ ด้วยความอดทน ...เพราะว่ามันจะบีบคั้น ภาวะพวกนี้...อารมณ์ ...อุปาทานนี่ มันจะสร้างความบีบคั้นให้เกิดมโนกรรม วจีกรรมและกายกรรม

เพราะนั้นพอมันบีบคั้น...ด้วยความไม่รู้ปุ๊บนี่ ...ด้วยอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่เป็นเวทนาบีบคั้นจิตเมื่อไหร่ปั๊บ มันจะสร้างเป็นสังขารา

คือปรุงออกมาเป็นความคิด สร้างว่าจะทำยังไงดีกับมัน จะทำยังงั้นยังงี้ ...มันก็จะพากายวาจาให้ถอยออก หนีออกจากอาการ หรือแก้อาการ เนี่ย

แต่ถ้ารู้ทันแล้วมันจะดับ ดับความคิดความปรุง อยู่แค่อารมณ์ที่ปรากฏ หรือเวทนาที่ปรากฏด้วยความไม่รู้ในปัจจุบัน ...แล้วก็จะเห็นว่าเดี๋ยวมันก็ดับ 

หรือมันไม่ดับก็ช่าง มันจะดับเมื่อไหร่ก็ช่าง ...แต่ให้รู้ไว้อย่างนี้ ด้วยความอดทนอยู่กับมัน...โดยไม่แก้ ไม่หนี ...ไม่ปรุง ไม่แก้ ไม่หาเหตุไม่หาผลอะไรกับมัน 

นี่ เขาเรียกว่ารู้เฉยๆ รู้โง่ๆ รู้ตรงๆ กับอาการที่ปรากฏตามความเป็นจริง

เพราะนั้นอะไรที่ปรากฏนี่ เราไม่เรียกว่ากิเลส เราไม่เรียกว่าถูก เราไม่เรียกว่าผิด ...แต่มันปรากฏจริง อย่างนี้ ถือว่าจริง

เราไม่ได้บอกว่าถูกเลยนะ เราไม่ได้บอกด้วยว่าผิดนะ ห้ามนะ ไม่ให้เกิด ไม่ได้นะ...ไม่ใช่ ...มันเกิดแล้วจะทำยังไง นี่ของจริง

เพราะนั้นว่า ปัญญาแปลว่าต้องรู้เห็นตามความเป็นจริงที่ปรากฏ แล้วก็เห็นไปถึงที่สุดว่า ความเป็นจริงนั้นคืออะไร จนถึงที่สุดของความเป็นจริงก็จะเห็นว่า...มันดับไปเป็นธรรมดา

เห็นมั้ย ไตรลักษณ์ ...จิตก็เข้าไปเห็นไตรลักษณ์ในอาการทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏ ...ไม่ว่าอะไรเกิดมา...ไม่มีอะไรไม่ดับ 

แต่ "เรา" มันทนอยู่ไม่ได้...จนถึงกว่ามันจะดับไปเองน่ะ ...นี่ ตรงนี้ มันก็ส่ายแส่ 

พอไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ...มันก็แส่ไปหาอดีต-อนาคตที่มันจะสร้างอะไรมาลบล้างอารมณ์ปัจจุบัน เวทนาปัจจุบันที่มันไม่พอใจหรือพอใจ

เพราะนั้นการปฏิบัติก็จะวนเวียนอยู่แค่เนี้ย ...ทำไงถึงจะยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบัน 

นิดๆ หน่อยๆ  เล็กๆ น้อยๆ นี่อย่ามองข้ามนะ ...ต้องสังเกต ให้แยบคายในทุกอาการที่ปรากฏ

เราไม่เคยบอกว่าถูก เราไม่เคยบอกว่าห้ามนะ ห้ามมีอารมณ์นะ ห้ามมีความรู้สึกอย่างนี้นะ...ไม่มีนะ ...มันปรากฏอย่างนี้ คือจริงหมด ...เพราะมันแสดงออกมาจากความเป็นจริงที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในใจ

ซึ่งอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในใจ นั่นน่ะ คือสิ่งที่เราจะต้องเอาออก ...ไม่ใช่ปกปิด ปิดบัง หรือห้าม หรือว่ากลัว ไม่ให้มันแสดงธาตุแท้ของมันออกมา
.....

เพราะนั้นปัญญานี่กลัวไม่เห็นตามความเป็นจริงอย่างเดียว ...ไม่เคยปิดบัง ไม่เคยปกปิด  ...ไม่กลัวกิเลสเลย ไม่เป็นศัตรูกับกิเลสด้วย และไม่คิดด้วยว่ามันเป็นกิเลส


โยม –  มันเป็นธรรมชาติ  

พระอาจารย์ –  ธรรมชาตินึงที่ปรากฏ เป็นอาการหนึ่งที่ปรากฏ เป็นสภาวะหนึ่งที่ปรากฏ 


โยม –  ก็เหมือนทุกสิ่ง  

พระอาจารย์ –  เหมือนกันน่ะ เหมือนฝนตกแดดออกน่ะ

ถ้าจะพูดโดยภาษาก็ว่ากิเลสเกิดแล้วก็ได้ แล้วแต่เราจะเรียกโดยสมมุติและบัญญัติ ...แต่จริงๆ ก็คือสภาวธรรมหนึ่ง เป็นสภาวธรรมหนึ่ง เป็นลักษณะอาการหนึ่ง 

เพราะนั้น ...เห็นมั้ย ถ้าเปิดใจให้กว้างนะ มันจะเห็นว่าไม่ค่อยมีอะไรแตกต่างกันหรอก

ไม่ว่าเรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องโน้น หรืออาการอย่างนั้น อาการที่มันประหลาดมหัศจรรย์ หรืออาการที่มันดีเลิศวิจิตรอะไรก็ตาม ...มันก็คือลักษณะอาการหนึ่งเหมือนกัน

ถ้ามองแค่ลักษณะ มันเป็นแค่ลักษณะหนึ่งเหมือนกัน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของไตรลักษณ์ หรือว่ากฎเหล็กของไตรลักษณ์ 

มันก็ไม่เห็นจะหนีออกจากไตรลักษณ์ตรงไหนได้เลย ไม่มีหลุดรอดพ้นจากไตรลักษณ์ได้ ...นี่ มันเห็นไตรลักษณ์จนยอมรับน่ะใจดวงนี้ จนไม่มีทางหนีน่ะ จนรู้เลยว่าไม่มีทางหนีออกจากไตรลักษณ์ได้เลย




หมายเหตุ  :  มีต่อในบท "ยอม" (2)