วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ก็ว่ารู้...แล้วทำไมไม่เชื่อ



รูปภาพถูกใส่ลงไปแล้ว


:09:


เราอยู่กับกายทั้งวี่ทั้งวันนี่
เรายังไม่รู้จักกายจริงๆ เลย ...ไม่เห็นกายจริงๆ เลย

แต่คิดว่านี่ “กายเรา” ซะอย่างงั้นน่ะ

เห็นมั้ย ... เห็นจิตมันโง่มั้ย เห็นจิตผู้ไม่รู้มั้ย
มันยึดเอาแบบดื้อๆ ด้านๆ มันถือเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล
แล้วจะเรียกว่ามันฉลาดหรือมันโง่ดี

ครูบาอาจารย์ถึงบอกมันโง่ไง จิตมันโง่ไง
แล้วบอกมันเท่าไหร่ก็ไม่ยอมๆ
อ่านหนังสือเข้าใจเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง ... ใช่มั้ย

ใครไม่รู้บ้าง...อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
รู้ ...อ่านมาทั้งนั้นน่ะ ได้ยินมาก็เยอะ
ใครไม่รู้ว่ากายเป็นอสุภะ
ใครไม่รู้จักว่ากายนี้เป็นธาตุดินน้ำไฟลม
รู้...ทำไมจะไม่รู้.....แต่กูไม่เชื่ออ่ะ

เห็นมั้ย จิตมันดื้อน่ะ
มันถือเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล หาเหตุผลไม่ได้
กูจะถือว่าเป็นเราอยู่วันยังค่ำอ่ะ...ไม่ยอมๆ
ทั้งๆ ที่ว่าก็บอกแล้วว่ามันโง่... ไม่เชื่ออ่ะ
ก็บอกว่ามันไม่ใช่เราเห็นมั้ย...ไม่เชื่ออ่ะ
ยังไงก็เป็นเรา...ยังไงก็เป็นเรา

มันหน้าด้านมั้ยนั่น 
ไม่ต้องอ้างเหตุอ้างผล มันไม่มีเหตุไม่มีผลเลย
นี่คือจิตไม่รู้ ... นี่คือจิตหลง


ต้องลงมือปฏิบัติ...ด้วยสติ ศีล สมาธิ ปัญญา...ที่เป็นสัมมา
มันจึงจะเกิดญาณทัสสนะที่แจ่มชัด...แล้วยอมรับตามความเป็นจริง

แม้จะเห็นความจริงแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วมันจะยอมรับง่ายๆ
มันไม่ยอมหรอก...จิตน่ะ มันดื้อ ไม่ยอมง่ายๆ หรอก

เพราะอะไร
เพราะเราใช้มัน เชื่อมันมานี่ นับภพนับชาติไม่ถ้วน
อเนกชาติ ไม่ต้องรันนิ่งนัมเบอร์เลย เพราะมันรันนิ่งไม่ทัน
มันใช้อย่างนั้นน่ะมานามนมเนแล้ว

การที่จะรู้ครั้งเดียว เห็นความเป็นจริงครั้งเดียว
แล้วมันจะยอม......ไม่มีทางหรอก

ตรงนี้สำคัญ ...สำคัญยังไง
ความเพียรเราน้อย เห็นป๊อบๆ แป๊บๆ
"ไม่เอาแล้ว ..ไม่เห็นได้ผลเลย ..ผลไม่เกิดเลย"

นิสัยน่ะมันมักง่ายไง จะเอาเร็วๆ
แต่ความเพียรไม่มีอ่ะ ความต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่มี
แล้วมันจะไปลบล้างความเห็นผิด ความรู้ผิดๆ มิจฉาทิฏฐิได้อย่างไร

มันก็เลยแบบ...จิตนั่นเองแหละ ก็บอกว่า
"ไม่ทำดีกว่า ไปทำอย่างอื่นดีกว่า ปล่อยเล่น ปล่อยเพลินดีกว่า"

นั่น ถึงบอกแล้วไงว่า
โลกนี้ไม่มีหมดสิ้นไปจากสัตว์มนุษย์หรอก
ตราบใดที่มันอยู่ในอำนาจของจิตผู้ไม่รู้นี่
ไม่มีการขวนขวายดิ้นรนในองค์มรรค
ในสติ ศีล สมาธิ ปัญญา 



:09:


พระอาจารย์

แทร็ก 8/8 ช่วง 1 และ ช่วง 2


วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สรณัง คัจฉามิ ...จริง จริ๊ง ?





การภาวนาต้องจริง...เป็นเรื่องของคนจริง
เพราะธรรมเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องเล่น 

เพราะนั้นการที่จะเข้าไปถึงของจริง เห็นของจริงนี่
การปฏิบัติต้องจริง ศีลสมาธิปัญญาต้องจริง ต้องต่อเนื่อง
ต้องไม่ใช่เป็นพาร์ทไทม์หรือว่ารักเผื่อเลือก 
มันจะต้องเป็นหลัก...งานหลัก คือเรียกว่าสัมมาอาชีโว

สัมมาอาชีโวจะมั่นคงได้ก็อาศัยสัมมากัมมันโต กระทำชอบ
และมีดำริชอบ ... ต้องดำริซ้ำลงไปว่านี่คือวิถีแห่งพุทธะ
นี่คือวิถีแห่งบัณฑิต นี่คือวิถีแห่งความหลุดพ้น นี่คือวิถีแห่งความรู้แจ้ง
นี่คือวิถีแห่งการไม่กลับมาเกิด ไม่กลับมาตาย ไม่กลับมาทุกข์
ไม่กลับมารัก ไม่กลับมาชัง ไม่กลับมาชอบอีก

ต้องดำริอย่างนี้บ่อยๆ คือการงานพวกนี้จึงจะเห็นว่าเป็นหลัก
...ที่เหมือนกับลมหายใจเข้าออก...ขาดไม่ได้

 นั่นแหละ เริ่มเป็นบัวปริ่มน้ำแล้ว
แค่ตั้งสัจอธิษฐานด้วยความรู้สึกที่เป็นสัมมาว่าเป็นงานการที่ทิ้งไม่ได้ ขาดไม่ได้
ต่อไปนี่ เมื่อทำแล้วดำริเช่นนี้บ่อยๆ แล้วมีการน้อมกลับมารู้ กลับมาเห็น 
ดูกายเห็นจิต ดูจิตเห็นกาย ดูกายเห็นจิต อยู่เสมอ อยู่อย่างนี้
...มันจะสะสมกำลังไปทีละเล็กทีละน้อย

ไอ้ที่จะๆๆ จะพ้น ...เดี๋ยวก็พ้นเอง
ไม่ใช่ 'จะๆ' มาหลายชาติแล้ว 
ใกล้แล้วๆ จะเข้าใจแล้ว จะได้แล้ว...ตายซะก่อน 
มันไม่เข้าใจสักที ...เป็นอะไรวะ ไปคาอะไร

เราบอกให้มันคาอะไร...คาขี้เกียจ

พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ...ไม่เอาอ่ะ
เอาหมอน ที่นอน สรณัง คัจฉามิ๊
เอาอาหารการกิน สถานที่ท่องเที่ยว ญาติสนิทมิตรสหาย
การพูด การคุย ฮัลโหลๆ สรณัง คัจฉามิ๊
...เนี้ย มันเป็นที่พึ่งไปหมด

ก็ต้องกลับมาหาพุทธะ ธัมมะ สังฆะ ...
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ นี่แหละจึงจะเป็นที่พึ่ง 

เพราะนั้นพุทธะไม่ได้อยู่ที่ไหน ...ใจผู้รู้นี่แหละ รู้อยู่ที่ไหน รู้อยู่เสมอ 
นั่นแหละเราอยู่กับพระพุทธเจ้า เฝ้าอยู่ เสนอหน้ากับท่านอยู่ ใกล้แล้วๆ
...แม้ท่านยังไม่รับเข้าธรรมสภา แต่ว่าเฝ้าไว้ก่อน อยู่ตรงนั้นก่อน 
อบรมกาย อบรมจิต เดี๋ยวพอได้ที่ได้ทางก็จะเขยิบเข้ามา...ในใจ
ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามากขึ้นๆ

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต
ธรรมคือที่ไหน ... ธรรมคือธรรมะปัจจุบัน กับใจที่รู้ปัจจุบัน
เมื่อใดที่อยู่กับรู้กับใจกับกาย เมื่อนั้นแหละจะเห็นพระพุทธเจ้า
เข้าใจพระพุทธเจ้ามากขึ้น เข้าถึงพระพุทธเจ้ามากขึ้น
... เพราะนั้นพุทธะ ธัมมะ สังฆะ คืออยู่ที่ใจดวงนี้แหละ

แต่พวกเราพอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า...สักแป๊บนึงก็...
'ที่นอน สรณัง คัจฉามิ ๆ ...เดี๋ยวรอก่อนนะคะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยต่อนะเจ้าคะ
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลา ขอทูลลาพระองค์ก่อน' (หัวเราะ)
...ลาไปลามาก็...ตายซะก่อน  หมดเวลา...เลเวลนึง

 เพราะนั้นเมื่อเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ก็อยู่ตรงนั้นแหละ  ...ไม่ไปไม่มาที่อื่นแล้ว
นั่นแหละถึงจะจริง ถึงจะเข้าถึงพุทธะจริง
นั่นน่ะคือวิถีแห่งพุทธะ วิถีธรรม วิถีแห่งมรรค
วิถีแห่งความหลุดพ้น วิถีแห่งความรู้แจ้ง
...ท่านเรียกว่าเอกายนมรรค

ก็ไม่รู้จะตรงไหนแล้ว ...ตรงมรรคเป๊ะเช๊ะ ที่สุดแล้ว
รู้ตรงไหนพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้นแล้ว

ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าท่านตายไปไหน ไอ้นั่นน่ะรูปขันธ์ท่านตาย
พระพุทธเจ้าก็ยังมีให้เข้าเฝ้าอยู่ทุกวันน่ะ...
พุทธะก็แปลว่าผู้รู้  ผู้รู้ก็คือว่าผู้ตื่น 
ผู้ตื่นก็คือผู้เบิกบาน สะอาด สว่าง สงบ

พระพุทธเจ้ามีอยู่ที่นี้ ...จะไปหาที่ไหน
จะไปเดือดเนื้อร้อนใจทำไมว่าพระพุทธเจ้าท่านตายไปแล้ว ไม่ได้เคารพท่าน

พุทธะก็มีอยู่ตลอดเวลา  ... แต่ว่าเราเอาใจออกห่างเอง


 


คำสอน "พระอาจารย์" 

คัดลอกโดยตัดทอนมาจากแทร็ก 7/8 (ช่วง 2)






วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ถากไม้...ให้ถึงแก่น




ถากไม้...ให้ถึงแก่น




ศาสนาพุทธนี่ท่านเปรียบไว้
เหมือนว่ามี ราก แก่น เปลือก กระพี้ กิ่ง ก้าน ใบ
การที่พระพุทธเจ้าพูดถึงอริยมรรค อริยผล 
การที่พระพุทธเจ้าพูดถึงมรรคมีองค์แปด อริยสัจสี่ 
ศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติบำเพ็ญเพียรนี่ 
วกนี้คือแก่น เป็นแก่น ...พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นแก่น เป็นหลัก 

แต่คราวนี้ว่าหลักหรือแก่น  เหมือนแก่นไม้นี่ มันอยู่เองไม่ได้ 
ถ้าไม่มีเปลือก ไม่มีกระพี้ ไม่มีกิ่งก้าน ไม่มีใบ ไม่มีราก แก่นมันก็อยู่ไม่ได้

เพราะนั้นการนับถือ การทำบุญ การจัดงาน
 การสร้างพระหล่อพระ การสร้างเจดีย์ สร้างวัดวาอารามพวกนี้
มันเหมือน เปลือก กระพี้ ราก กิ่ง ก้าน ใบ ... 
แต่ว่าทั้งหมดน่ะมันมาอุ้ม มาประคับประคองหลัก...แก่นของศาสนาไว้ 
มันเกื้อหนุนกัน  ถ้าไม่มี หรือว่าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศาสนาพุทธก็อยู่ไม่ได้

เพราะนั้นว่าถ้าเข้าใจแล้ว ต่างคนต่างก็มองกันด้วยความเป็นสันติ 
ทำไปทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้คงศาสนาไว้

แต่คราวนี้ว่า คนที่ทำ...กำลังทำอะไร ก็ต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่  
เช่น กำลังทำอยู่ในแก่นก็ต้องรู้ว่าทำอยู่ในแก่น 
กำลังทำอยู่ในเปลือกกระพี้ ก็ต้องรู้ว่าอยู่ในเปลือกกระพี้ 
... ต้องเข้าใจ ให้เข้าใจอย่างนี้ก่อน 

เพื่ออะไร ...
เพื่อพัฒนาให้มันเป็นไปเพื่อหลักสูงสุดที่พระพุทธเจ้าวางหลักไว้
ก็คือการชำระจิตให้บริสุทธิ์  ซึ่งเป็น...สาระสูงสุดที่พระพุทธเจ้าต้องการ 

สาระเบื้องต้นก็คือ ทำบุญ ไม่ทำบาป ...
ไม่ทำบาปแล้วก็ทำบุญ ..นี่คือสาระเบื้องต้น 
แต่ว่าสาระที่พระพุทธเจ้าบอกว่า 
ถ้าไม่อยากมาทำบุญ ละบาปอีก...ก็อย่ามาเกิด ... 
นี่ คือการชำระจิต 
อันนี้คือเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าต้องการที่สุด...
นั่นแหละคือหลัก หรือแก่น

และถ้าเข้าใจว่าตัวเองยังอยู่ในลักษณะของเปลือก กระพี้ ใบ อยู่  
ก็อย่างน้อยชะโงกหัวเข้ามาหน่อย ให้ถึงแก่นหน่อย  
แม้จะยาก แต่ต้องทำ ต้องฝึก ต้องไม่ให้ละเลยหลงลืมแก่น  
ไม่งั้นมันจะไปมัวเมาลุ่มหลง
อยู่กับสิ่งที่มันยังเป็นแค่เปลือกหรือกระพี้ 
คือมันละเลยหลงลืมแก่นไปเลย 

ซึ่งต่อไปนี่ แก่นมันจะเหลือนิดเดียว ... 
เลยพุทธชยันตีนี่ไป แก่นมันจะน้อยลงๆ  
แต่เปลือกกระพี้นี่มันจะกว้างใหญ่ขึ้น 
มากขึ้น จนหาแก่นแทบจะไม่เจอน่ะ
 ... เนี่ยสำคัญ สำคัญตรงนี้




จาก "คำสอน พระอาจารย์" 
แผ่น 8 แทร็ก 8/8