วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

ดัด...จริต






ดัด...จริต


โยม –   คือแต่ก่อนตอนหนูนั่งสมาธิครั้งแรกๆ มันก็เงียบนิ่งไป มันก็อะไรไป  แต่ทุกวันนี้มันก็ไม่มีที่ว่าเราจะมีความนิ่งได้ขนาดนั้นเลย  เพราะว่าเรา...เดี๋ยวมันก็หลงคิด เราก็ไปรู้ว่าเราหลงคิด แป๊บเดียวเราก็หลงไปคิดๆๆ ตลอด ทั้งวันทั้งคืนเลยน่ะค่ะหลวงพ่อ

อย่างนี้มันก็ไม่มีโอกาสให้เราได้สงบเลย ทั้งๆ ที่ว่าเราก็ยังอยากสงบอยู่เหมือนกัน อย่างนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –   อือ ... แล้วทำไม แล้วมีปัญหาอะไรกับมัน 


โยม –   ก็มีปัญหาว่ามันจะไม่มีวันสงบเลยเหรอคะ อย่างแต่ก่อนที่มันได้สงบ  

พระอาจารย์ –  ใช่ ... เพราะจิตไม่เคยหยุดนิ่งเลย ... ธรรมชาติของจิตที่แท้จริงไม่เคยหยุดนิ่ง  


โยม –   อ้อ เราก็ไม่ควรสงบเอาอะไรเนาะ   

พระอาจารย์ –   ก็นั่นน่ะสิ  ...ก็เราถูกปลูกฝังมาเองว่าความสงบถูกต้อง ความสงบดี ... นี่มันเป็นการเข้าไปควบคุมจิตในลักษณะหนึ่งสภาวะหนึ่งเท่านั้นเอง...ได้ชั่วคราว ไปขัดขืนธรรมชาติของจิตได้ชั่วคราว แค่นั้นเอง

พระพุทธเจ้าถึงบอกเป็นแค่หินทับหญ้า ...หญ้านี่มันไม่เคยหยุดการเติบโต เฉกเช่นเดียวกันกับจิตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ถ้าเราไม่เข้าใจเมื่อไหร่นี่ เห็นมั้ย เราจะมีปัญหากับความไหวของจิต ใช่ป่าว  เพราะเราไปคิดว่าต้องหยุดไหวถึงจะดี...ดีกว่าไม่ไหว


โยม –   คือมันไหวแบบเยอะมาก จนหนูเหนื่อยไปหมดเลยน่ะค่ะ ...ก็รู้ว่ามันไม่พอใจจริงๆ น่ะค่ะ ...ก็มันแบบว่า...(หัวเราะ) 

พระอาจารย์ –   มันไม่ได้ดั่งใจ


โยม –  ก็มันจะมีตัวล่าสุดเนี่ยค่ะ ที่หนูต้องมาหาหลวงพ่อ มันกระวนกระวาย คือที่หนูรู้สึกว่ามันไม่ค่อยสงบเท่าไหร่ ...มันทำใจไม่ได้ (หัวเราะ)    

พระอาจารย์ –   โลภ ...เกิดจากความโลภมาก ไม่สันโดษในธรรม เข้าใจมั้ย  คือไม่ยินดีพอใจในสิ่งที่มีและเป็นในปัจจุบัน แล้วมีความทะยานอยาก...โดยอ้างว่า การที่ทะยานอยากออกไปน่ะ ผลของมันดีกว่านี้ ผลของมันจะดีกว่านี้ แค่นั้นเอง

แล้วก็ไปเป็นทุกข์กับที่เราคะเนเอา ...เป็นเรื่องของความปรุงของจิตทั้งนั้น แล้วเราก็เชื่อมัน ให้ค่ากับความเห็นนี้ โดยไม่ยอมทิ้งความเห็นนี้ แล้วมันก็จะฝืนกับความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ แค่นั้นเอง มันเลยไม่ลงตัว

แต่ถ้ายอมรับความเป็นจริงซะ ยังไงก็ยังงั้น มากก็มาก น้อยก็น้อย แรงก็แรง เบาก็เบา ขอให้รู้..บอกแล้วไง ขอให้รู้ เหมือนกับตาเราเห็นมันอยู่อย่างนี้  ไม่ใช่ 'เอ๊ะ นี่เรารู้ป่าว ...เอ บางทีเราก็ว่าเราเห็น'  อย่างนี้ แปลว่าไม่เห็นแล้ว เข้าใจมั้ย ไม่มีสติในขณะนั้นแล้ว

ต้องรู้ในขณะนั้น รู้ในขณะนั้นจริงๆ แล้วไม่ว่า...มันจะมากก็ได้ น้อยก็ได้ ไม่ว่ากัน  ...ถ้ารู้อยู่ไม่มีปัญหา ให้มันเรียนรู้ตรงๆ

สงบ-ไม่สงบนี่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก บทมันจะสงบขึ้นมานี่ไม่ต้องถามหาเลย เขาสงบโดยที่เราไม่ต้องเรียกร้องด้วยซ้ำ มันจะวาง...เวลาบทที่มันจะวางหรือว่าคลายจากอารมณ์นี่ หรือว่าเกิดจิตที่มันต้องการการพักตัวของมันนี่ เขาจะเป็นไปของเขาเองเลย ...ไม่ได้เกิดจากความอยากหรือไม่อยากของเรา 


โยม –   อย่างนี้มันเหมือนที่เขาคุยกันว่า “ติดดี” ใช่ไหมคะ พอเริ่มภาวนาได้นิดนึงก็ “กระแดะ” คืออยากสงบอะไรประมาณอย่างนี้ (หัวเราะ) 

พระอาจารย์ –   ไม่ได้เรียกว่ากระแดะ เขาเรียกว่า “ดัดจริต” เข้าใจมั้ย ... เข้าใจคำว่า “ดัดจริต” มั้ย ... จริตของเรานี่มันมีอยู่แล้ว ไอ้ความที่ทุกคนมันมีอยู่...ธรรมชาติของจิตมันเป็นจริต ...จริตของมันมีอยู่แล้ว อย่างนี้ ก็คือจริตของจิต เข้าใจมั้ย

จะไปทางนี้หรือจะไปทางโน้น จะมากขึ้นหรือจะน้อย หรือจะฟุ้ง มันเป็นธรรมดาของมันอยู่แล้ว ...แต่เราไม่พอใจจริตนี้ ก็เลยไปดัดมัน  นั่นแหละเราถึงเรียกว่าดัดจริต ไปดัดจริตของจิต เข้าใจมั้ย ไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขจริต เห็นรึยัง โดยเข้าใจว่าอย่างนี้ถึงจะดีกว่า 

อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง โดยเข้าใจว่าเป็นธรรม ...ถ้าไม่ดัดมันถ้าไม่แก้มัน ถ้ามันไม่อยู่อย่างนี้แปลว่าไม่ใช่  อย่างเนี้ย เป็นความเห็นเอาเองนะ แล้วก็ไปดิ้นรนขัดขวางจริตของจิต อย่างนี้มันไปดัดจริต ...อย่าไปดัดมัน

แต่ว่าไม่ใช่ว่าไม่ดัดมันแล้วก็ปล่อยปละละเลย เข้าใจมั้ย  ไม่ดัด...แต่ให้ดู ด้วยสติ...รู้  ขึ้นก็รู้ ลงก็รู้  มากก็รู้ น้อยก็รู้  ออกไปก็รู้ ไปทำอะไรก็รู้ อย่างนี้ ... เพราะนั้นให้กลับมารู้กับมัน โดยไม่มีเงื่อนไข แค่นั้นเอง ถึงจะเรียกว่าการเจริญสติ ...ไม่ใช่รู้แบบปล่อยปละละเลยน่ะ

หรือว่าพอมารู้ ตั้งใจรู้ เห็นมันปุ๊บ เอาแล้ว...ไม่พอใจ...อย่างนี้  แบบรู้แล้ว 'ไม่ชอบเลย ต้องทำอะไรกับมัน มันไม่ดีเลย อารมณ์อย่างนี้ไม่ดี' ... อย่างนี้ไม่ใช่  นี่เรียกว่ารู้แบบหนีความเป็นจริงของจิต เข้าใจมั้ย ... มันไม่ดีก็ไม่ดี ก็รู้กับมัน ...จะไปทำอะไรกับมันล่ะ มันควบคุมได้รึเปล่าล่ะ ก็รู้...เพื่อจะมาเห็นว่ามันควบคุมไม่ได้ 




โยม –   ก็มันกระทบอะไร แบบว่ามันก็แรง อารมณ์มันรุนแรง  ...แต่ว่ามัน..มันเยอะอ่ะ

พระอาจารย์ –  รู้ไปเหอะ ...รู้ไป  สำคัญให้รู้อยู่ เข้าใจมั้ย  จะเยอะจะน้อยไม่ว่า ขอให้รู้ ...มันสำคัญว่ามันไม่รู้น่ะสิ   มันรู้รึเปล่า...ในขณะที่มันเกิดน่ะ  เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน  ไม่ใช่ว่าคิดว่ารู้อยู่ หรือว่า 'เอ น่าจะรู้อยู่นะ' ... อย่างนี้มันยังไม่ใช่น่ะ

มันต้องรู้ต้องเห็นกันต่อหน้าต่อตาเลยน่ะ จับได้คาหนังคาเขา ประมาณนั้น ... ต้องรู้อยู่อย่างนั้น  แต่เราไม่ได้ตำหนิว่ามันมากหรือมันน้อย หรือมันบ่อยหรือมันถี่ ...แต่ให้รู้อยู่ ยังไงก็ให้รู้อยู่กับมัน ให้เห็นอยู่ ไม่เป็นไร...ไม่เป็นไร


โยม – กิเลสทุกตัวที่เรามี เราจะต้องรู้มันจนเรารู้จักมันจริงๆ เลยหรือเจ้าคะ   

พระอาจารย์ –  อือ ... ถึงจะเข้าใจกับมัน ต้องเรียนรู้กับมันทุกตัว เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจมัน ไม่เรียนรู้เท่าทันกับมันนะ เราจะเป็นทุกข์กับมันอยู่ เพราะยังไม่แจ้ง ...ดูเพื่อเรียนรู้มัน ศึกษาวิจัย


โยม –  ทุกอย่าง ?  

พระอาจารย์ –  เออ ก็บอกแล้วไง อะไรก็รู้ๆ ... รู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับมัน    





หมายเหตุ : คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
คำสอน พระอาจารย์ (แผ่น 1) แทร็ก 1/9

อ่านคำสอนบทเต็มได้ที่




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น