วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

Action ! ! ! ! .....





พระอาจารย์ –  ถ้าเราเชื่อเรื่องของกรรม กฎแห่งกรรมแล้วนี่ ... Action เท่ากับ Reaction ... มันเป็นกฎธรรมชาติที่ว่า...คุณออกแรงกระทำเท่าไหร่ คุณจะได้รับผลเท่านั้น  

ถ้าคุณชกกำแพงน่ะ ด้วยหมัดที่กำไว้...แล้วมีเจตนาจะชกให้สุดแรงเกิดน่ะ  คุณจะต้องเจ็บมากขึ้นเท่านั้น...โดยที่ไม่ต้องมีใครทำให้คุณเจ็บเลย

นี่คือกฎของธรรมชาติ นี่คือกฎของกรรม นี่คือกฎแห่งกรรม ...ไม่มีใครหรอกมาเอาคืน ไม่มีใครหรอกมาเป็นเจ้าหนี้เจ้ากรรม จองเวรจองกรรม  แล้วมาชี้ว่า "นี่ จะหมดแล้วนะ ที่ฉันเอานี่มันสะใจฉันแล้ว" ... อู้ย อะไรมันง่ายปานนั้น

ดูพระโมคคัลลาน์ ...เศษกรรมของท่านที่ตีพ่อตีแม่ลงเหวน่ะ สุดท้ายก็ยังโดนตี จนกระดูกแหลก ...พระอรหันต์นะนั่นน่ะ ก็ต้องชดใช้จนหยดสุดท้าย อณูสุดท้ายของการกระทำ action นั้นๆ ...จนมันหมดซึ่งแรง action เป็น reaction สุดท้าย ท้ายสุด

ท่านหนีสามครั้งนะ ก็ไม่พ้น สุดท้ายต้องยอม จนต้องยอมหมดสิ้นกับกรรมนั้นๆ จริงๆ ...นี่คือความสมดุล คืนความสมดุลให้โลก ...จนถึงที่สุดไม่มีอะไรเหลือติดค้างข้องคา แม้แต่แรง อำนาจ วิถี อณูใดอณูหนึ่ง...ยังไม่เหลือ 

เห็นมั้ยว่าท่านยอมรับกฎแห่งกรรมโดยสมบูรณ์ ...ซึ่งจริงๆ ท่านหนีได้ เลี่ยงได้ เหาะหนีสามครั้งสี่ครั้ง หรือจะไม่ยอมถูกตีจนตายก็ยังได้ ... แต่ท่านดูแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้  ถึงท่านจะหนีไปแค่ไหน ...ตายแล้วก็ยังเข้านิพพานไม่ได้ เชื่อมั้ย 

หากยังเหลือเศษกรรม ...แม้จิตจะถึงอรหัตแล้วก็ตาม  แต่ยังต้องไปค้างข้องอยู่ในภพใดภพหนึ่ง  เพื่อรอให้หมดซึ่งกรรม อันเป็นสุดท้ายท้ายสุดนี้ ...นี่ จึงไม่มีคำว่าใครเหนือกว่ากรรมเลย


โยม –  แล้วที่ได้ยินมาว่า ...ถ้าเราสำนึกได้ก่อน หรือเราขอขมากรรมไปเรื่อยๆ นี่ จะช่วยผ่อนคลายกรรมนั้น  อันนี้ช่วยได้ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ลักษณะนี้ เขาเรียกว่าการอโหสิกรรม ...มันเป็นอุบาย


โยม –  อุบายให้จิตเรา

พระอาจารย์ –  หมายความว่าให้จิตเนี่ย...คลายจากความยึดในการกระทำนั้นๆ ... คือยิ่งรู้สึกมันมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าไปผูกมันแน่นเท่านั้น ...ก็ใช้คำเป็นกุศโลบายว่าขอขมา ขออโหสิกรรม  


แต่ในลักษณะจิตของพวกเรานี่ ไม่ได้อโหสิกรรมตลอดเวลา เข้าใจมั้ย  มันยังมีการข้องและคา ยึดและถือ ...ตรงนี้ท่านก็ใช้คำว่าอโหสิกรรมนี่...มาเป็นอุบาย 

เพื่อให้จิตมันคลายออกจากการข้อง ยึดมั่น แนบแน่น จริงจัง เอาเป็นเอาตายกับสิ่งนั้นๆ การกระทำนั้นๆ แล้วไม่ยอมจบ  เพื่อให้มันคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น ...จากครุกรรมก็จะเบาลงเป็นลหุกรรม

เพราะนั้นตัวลหุ ตัวครุ นี่...มันอยู่ที่อาจิณกรรม หรือความซ้ำซาก ... ถ้าซ้ำซากลงไปนี่ก็ครุล่ะ  คือคิดทั้งวัน ตื่นก็คิด นั่งก็คิด ยืนก็คิดแต่เรื่องเดิมน่ะ โกรธก็โกรธคนเดิมน่ะ ...นั่นครุ เดี๋ยวก็เป็นครุ หนักขึ้นเรื่อยๆ นะ 

แต่ถ้ามันอโหสิ เออ แล้วไปๆๆ ... กรรมที่จะเกิดต่อไปในอนาคต...ถือเป็นลหุ เบาลงไปเรื่อยๆ ...จนหยุดคิดโดยสิ้นเชิง หลุดจากกรรมที่จะได้ในอนาคต ไม่มีแล้ว เข้าใจมั้ย

เพราะจิตมันจะสร้างภพรอ ...ยิ่งสร้างหนักแน่นขึ้นเท่าไหร่ มั่นคงเท่าไหร่ เที่ยงขึ้นเท่าไหร่นะ...ครุ รอรับได้เลยๆ ...แล้วมันจะเจอกันเมื่อไหร่..."ไม่มึงตาย ก็กูตาย" นั่นแหละ คุรุ ...คิดกันเข้าไปเถอะ ไม่ยอมแล้วไม่ยอมเลิก ไม่ยอมอโหสิซึ่งกันและกัน

แต่ถ้าถืออโหสิ ...เออ ช่างหัวมันเถอะ ปล่อย อโหสิ ...จิตมันก็เลิกคิด หยุดคิด หยุดไปซ้ำซาก เป็นครุ เป็นอาจิณ ...อาจิณกรรมคือการสร้างกรรมในปัจจุบันนั่นน่ะจะเป็นอาจิณกรรม

พอมันถอยจากครุมาเป็นลหุ...เบาๆ บางๆ  แล้วก็ถืออโหสิไปๆ  จนคลาย จนรู้สึกว่าคิดก็ได้ไม่คิดก็ได้  จิตก็ราบเรียบเป็นกลาง ... ตรงนั้นน่ะคือการไม่เข้าไปผูกกรรม 

นี่คือวิถีของจิตที่ฝึก...ต้องฝึก ต้องอบรม ...แล้วมันจะรู้ว่า ทำ พูด คิด อย่างไรจึงเรียกว่าอยู่เหนือกรรม ไม่อยู่ใต้อำนาจของกรรม ...มันต้องสำรวมจิตทุกขณะ ทุกบุคคลด้วย  วาจาด้วย กายด้วย 


เพราะในระหว่างวัน...ทุกวัน...ทั้งชีวิตนี่  จิตนี่สร้างมโนกรรมไว้...ไม่ถ้วนเลย ...เพราะเราอยู่ด้วยความเผลอเพลิน เพราะอยู่ด้วยความไม่รู้ตัว เพราะอยู่ด้วยความปล่อยปละละเลย 

เพราะอยู่ด้วยความที่ว่าตามอำเภอใจ ตามอำเภอความอยาก ความคิด ...พวกนี้ มันจะสร้างภพน้อย ภพใหญ่ ภพหยาบ ภพละเอียด ภพประณีต ภพอันเลว ภพอันดี ...เยอะแยะ

พอเหตุควรปรากฏ วิบาก...ปัจจุบันปรากฏด้วยเหตุอันควร บุคคลอันควร...พอดีกัน สังเคราะห์กันปึ้บ เสริมสวมได้กับภพไหนในจิต...ปัง...ชาติบังเกิด อุปาทานชาติ อุปาทานขันธ์ ตรงตามเป็นปัจจุบันชาติปัจจุบันขันธ์...ได้เลย

นี่คือระบบ...ซึ่งไม่มีใครจัดการระบบนี้ ... นี่คือกฎ แต่เป็นกฎของธรรมชาติ นี่คือกฎของจักรวาล 

นี่คือกฎของสังสารวัฏกับผู้ที่อยู่ในสังสารวัฏ...จะต้องอยู่ภายใต้กฎนี้ โดยมิอาจก้าวข้าม มิอาจล่วงเกิน มิอาจเปลี่ยนแปลง มิอาจแก้ไข ด้วยอำนาจใดอำนาจหนึ่งเลย




คัดลอกโดยตัดทอนมาจาก
คำสอน "พระอาจารย์" แผ่น 11 แทร็ก 11/13 ช่วง 1